กรุงเทพฯ, ประเทศไทย (8 ก.พ. 2566 ) – นักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากสโมสรฟุตบอลชั้นนำ อย่างลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ร่วมเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการรับชมฟุตบอลผ่านช่องทางผิดกฎหมายในประเทศไทยผ่านแคมเปญ ‘Boot Out Piracy’ (ต่อต้านสตรีมมิ่งละเมิดลิขสิทธิ์)
แคมเปญนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในปี 2566 โดยมีเหล่านักฟุตบอลชื่อดังจากพรีเมียร์ลีกเข้าร่วมแคมเปญ อาทิ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ กองหลังจากลิเวอร์พูล, อิลคาย กุนโดกัน จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้, เจมี วาร์ดี กองหน้าจากเลสเตอร์ ซิตี้ และแจ็ค แฮร์ริสัน จากลีดส์ ยูไนเต็ด โดยหนังโฆษณาภายใต้แคมเปญนี้จะออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกผ่านเว็บไซต์และอุปกรณ์ผิดกฎหมาย และการรับชมจากสตรีมมิ่งแบบผิดกฎหมายยังให้อรรถรสในการรับชมที่ไม่ได้คุณภาพอีกด้วย
จากผลสำรวจของ White Bullet Solutions บริษัทด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า 71% ของเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่คนไทยนิยมรับชมพรีเมียร์ลีกอย่างผิดกฎหมายมีโฆษณาที่เสี่ยงต่อการหลอกลวง การโดนมัลแวร์ และยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการพนันและเนื้อหาเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม
จึงทำให้แฟนบอลที่รับชมพรีเมียร์ลีกผ่านเว็บไซต์หรือสตรีมมิ่งแบบผิดกฎหมายมีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกบัญชีธนาคาร โจรกรรมข้อมูล หรืออุปกรณ์จะถูกล็อคเพื่อเรียกค่าไถ่ (Ransom) นอกจากนั้นยังอาจได้รับประสบการณ์ในการรับชมพรีเมียร์ลีกที่ไม่ราบรื่นเพราะถูกรบกวนจากคุณภาพของวิดีโอ ถูกขัดด้วยหน้าต่างโฆษณาจำนวนมาก รวมถึงความล่าช้าของวิดีโอ
ศาสตราจารย์พอล วัตเตอรส์ ที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำ และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย La Trobe ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า
“จากผลสำรวจล่าสุดในเอเชีย พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับมัลแวร์และแรนซัมแวร์จากการเข้าเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งส่งผลให้ข้อมูลส่วนตัวสูญหายหรือข้อมูลสำคัญถูกล็อคไว้เพื่อเรียกค่าไถ่
“โดยจากค่าเฉลี่ยพบว่า คุณมีโอกาสถึง 57% ที่จะโดนคุกคามจากมัลแวร์ซึ่งถูกฝังมาภายในแอปละเมิดลิขสิทธิ์ที่คุณดาวน์โหลด และจากผลสำรวจยังพบว่าอุปกรณ์จะถูกบุกรุกโดยมัลแวร์ โดยใช้เวลาเพียง 43 วินาทีเท่านั้น
“คุณควรทราบว่าผู้ให้บริการเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์สนใจแค่การทำเงินโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย และมักใช้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเหยื่อล่อ ซึ่งเมื่อคุณติดกับนั้น อุปกรณ์ของคุณอาจกลายมาเป็นแหล่งแพร่มัลแวร์ให้ทั้งตัวคุณเอง ครอบครัว รวมไปถึงที่ทำงานของคุณได้
ทางพรีเมียร์ลีกได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ให้บริการเว็บไซต์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเปิดสตรีมมิ่งแบบผิดกฎหมายทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งนับตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พรีเมียร์ลีกได้มีการสั่งบล็อกเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้วกว่าหลายร้อยเว็บในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย
“เราทราบดีว่าแฟนบอลบางส่วนในประเทศไทยกำลังเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางไซเบอร์และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้งานสตรีมมิ่งบนเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเราอยากจะย้ำให้ทุกคนทราบว่ามันไม่คุ้มเลยที่จะเสี่ยง เพราะเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้มีเนื้อหาที่อาจเป็นอันตรายและสามารถสร้างปัญหาที่ตามมาอีกมากมายให้กับคุณ
“โดยภายใต้แคมเปญ ‘Boot Out Piracy’ (ต่อต้านสตรีมมิ่งละเมิดลิขสิทธิ์) ที่เปิดตัวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและหน่วยงานภาครัฐเพื่อปกป้องแฟนบอลของเราจากภัยคุกคามที่เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ และขอแนะนำผู้ที่ยังรับชมฟุตบอลผ่านช่องทางสตรีมมิ่งผิดกฎหมาย ให้หันมาเลือกช่องทางการรับชมอย่างเป็นทางการจากพันธมิตรของพรีเมียร์ลีกที่มีความปลอดภัยและยังมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการรับชมให้แก่คุณ
“การให้ความรู้และความเข้าใจแก่แฟนบอลถึงอันตรายจากการรับชมพรีเมียร์ลีกแบบผิดกฎหมายถือเป็นส่วนสำคัญของโครงการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของเรา ในขณะเดียวกันเราได้มีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการบล็อกเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมไปถึงการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ให้บริการ/ขายสตรีมมิ่งผิดกฎหมาย และเพิ่มกระบวนการต่าง ๆ ที่จะทำให้การเข้าถึงเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ทำได้ยากมากยิ่งขึ้น”
No comments:
Post a Comment