ข้อเสนอแนะของ สจล. คือ โมเดลการก่อสร้างโครงการทางพิเศษเหมาะที่จะอยู่ในรูปแบบอุโมงค์ใต้ดิน แทนการก่อสร้างด้วยโครงสร้างบนดินเพราะจะทำให้เมืองกรุงเทพมหานครยังคงความสวยงามของเมือง ลดความเสี่ยง อันตรายจากการก่อสร้างต่างๆ ลดปัญหามลพิษที่จะเกิดเกิดขึ้น ลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและการจราจร และอยากให้คำนึงถึงตัวอย่างของโครงการก่อสร้างถนนเส้น พระราม 2 ซึ่งยังคงส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่และการสัญจรไปมาจนถึงทุกวันนี้
รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำประโยชน์ต่อประเทศมามากมาย เพราะฉะนั้นโครงการนี้ ก็เชื่อว่าการทางพิเศษฯ จะต้องเลือกทางที่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเชื่อว่าประชาชนจะยอมรับได้ เพราะผลกระทบในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับไปตลอดชีวิต ถึงลูก หลาน แม้ว่าการทางพิเศษฯ จะบอกว่ามีวิธีการป้องกันเรื่องของมลภาวะต่าง ๆ แต่ในเรื่องของมูลค่าทรัพย์สินของประชาชนก็จะสูญเสียไปตลอด จึงอยากให้พิจารณาในประเด็นการก่อสร้างโครงการ ในรูปแบบอุโมงค์ใต้ดิน แทนการก่อสร้างด้วยโครงสร้างบนดิน ซึ่งถึงแม้จะมีมูลค่าการก่อสร้างมากขึ้น แต่ก็คุ้มค่ามากกว่า ทั้งนี้อยากจะฝากให้พิจารณาการตัดสินใจ ให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการก่อสร้าง และเชื่อว่าประชาชนจะไม่ยินยอมอย่างแน่นอน
รองศาสตราจารย์ ดร. คมสัน มาลีสี กล่าวด้วยว่า สุดท้ายการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรอบด้านผู้ที่เกี่ยวข้องทุกทิศทางด้วยรูปแบบการประเมิน 360 องศา คือสิ่งจำเป็นที่สุด ไม่ว่าอย่างไรการคำนึงถึงผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและลูกหลานของเรา คือสิ่งสำคัญที่สุดต่อการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้
สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่) ของกรมทางหลวง (ทล.) เป็นเส้นทางสายหลักที่ให้บริการประชาชนเพื่อเดินทางเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก ทั้งจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ซึ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการเดินทางของประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย จึงรองรับการใช้บริการของสายการบินจำนวนมากทั้งผู้โดยสารและสินค้าต่างๆ ทำให้มีปริมาณการเดินทางเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ
No comments:
Post a Comment