บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มุั่งมั่นมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งเสริมโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟทั่วประเทศ สานต่อ"โครงการรักษ์นิเวศ" ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยเสี่ยงทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต บริษัทฯ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ โดยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร และอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ด้วยการจัดการวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ ส่งเสริมแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ
"ซีพีเอฟดำเนิน"โครงการรักษ์นิเวศ" สนับสนุนให้โรงงานและฟาร์มทั่วประเทศ มีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวขณะเดียวกันได้พัฒนาระบบรวบรวมข้อมูลการวัดผลเชิงระบบนิเวศ และในทุกๆปี มีการจัดอบรมให้พนักงานในหลักสูตรการวัดผลการให้บริการระบบนิเวศ และการประเมินการกักเก็บคาร์บอน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกต้นไม้ โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งล่าสุด ในปี 2563 อบก.ได้มอบประกาศนียบัตรให้สถานประกอบการ 58 แห่งของซีพีเอฟที่ร่วมโครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้นไม้กักเก็บจากการปลูกต้นไม้ทั้งสิ้น 5,960 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า " นายวุฒิชัยกล่าว
ในโอกาสวันที่ 26 พ.ค.ปีนี้ ตรงกับวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ผู้บริหารและพนักงานของโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟทั่วประเทศ สานต่อโครงการรักษ์นิเวศ โดยร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ อาทิ โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกหนองแค จ.สระบุรี ร่วมกันปลูกต้นทุเรียน ขนุน มะม่วง โรงงานคัดไข่และแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก ปลูกต้นกัลปพฤกษ์ ต้นอินทนิล จากเดิมที่ปลูกต้นหูกระจงไว้กว่า 70 ต้น ผู้บริหารและพนักงานของโรงงานผลิตอาหารสัตว์หาดใหญ่ ร่วมกันปลูกต้นบัวตองเพื่อปรับภูมิทัศน์ภายในโรงงาน โรงงานผลิตอาหารสัตว์ศรีราชา ปลูกต้นขนุน ส้มโอ และละมุด จากเดิมที่ปลูกไม้ยืนต้นรวมแล้วกว่า 200 ต้น Complex สันกำแพง ธุรกิจไก่ไข่ ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 10 ไร่ เป็นต้น
นอกจากการดำเนินโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการแล้ว ซีพีเอฟ ยังได้สานต่อโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลน ในโครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" (ปี 2559-2563) สามารถอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ บริเวณป่าต้นน้ำพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 5,971 ไร่ และ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา รวม 2,388 ไร่ ซึ่งพบว่าในพื้นที่ป่าชายเลนปลูกใหม่ ที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ช่วยดููดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 439 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในพื้นที่ป่าชายเลนปลูกใหม่ที่ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง ช่วยดููดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ กิจการในต่างประเทศของซีพีเอฟ อาทิ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย และตุรกี มีการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน
No comments:
Post a Comment