สรุปประเด็นแถลงข่าว กกร. พ.ค. 64 - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, May 19, 2021

สรุปประเด็นแถลงข่าว กกร. พ.ค. 64

01%2B%25281%2529


วันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดการประชุมประจำเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กกร. นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นประธานการประชุมและการแถลงข่าว โดยที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า

· การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองและไตรสามเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯ ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2%

· การเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดเป็นภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน และจะทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีน อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

· เศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป

· เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป

· ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.5% ถึง 2.0% เนื่องจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ด้านการส่งออก กกร. ปรับประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 5.0% ถึง 7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

 

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.

%YoY

ปี 2563

(ตัวเลขจริง)

ปี 2564

(ณ เม.ย. 64)

ปี 2564

(ณ พ.ค 64)

GDP

-6.1

1.5 ถึง 3.0

0.5 ถึง 2.0

ส่งออก

-6.0

4.0 ถึง 6.0

5.0 ถึง 7.0

เงินเฟ้อ

-0.85

1.0 ถึง 1.2

1.0 ถึง 1.2

 


· ขอให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอใน 4 เรื่อง โดยเสนอ

1. เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายโดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4

2. เร่งผลักดัน พ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้าน สาธารณะสุข ด้านการเยียวยา ชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

3. เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิถุนายน และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง

4. เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages