ยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด เติมเต็มโภชนาการที่ครบถ้วน แก่เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, March 8, 2023

ยูโอบี ประเทศไทย ร่วมกับ ฟู้ด ฟอร์ กู๊ด เติมเต็มโภชนาการที่ครบถ้วน แก่เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกล

กรุงเทพฯ 2 มีนาคม 2566 – ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และโครงการฟู้ด ฟอร์ กู๊ด (FOOD FOR GOOD) โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ร่วมกันส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกลบริเวณทางภาคเหนือของประเทศไทย ธนาคารได้ระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเติมเต็มมื้ออาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง 5 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พร้อมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพคุณครูและแม่ครัวให้สามารถวางแผนมื้ออาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ครบถ้วน หลากหลาย และเพียงพอตามช่วงวัย รวมถึงวิธีการดูแลเด็กนักเรียนรายบุคคลให้พ้นจากภาวะทุพโภชนาการ



สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เกิดจากความต้องการสนับสนุนให้เกิดกลไกการดูแลโภชนาการเด็กในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนเด็กทุพโภชนาการที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปี กว่า 2.9 ล้านคน ประสบปัญหาทุพโภชนาการ หรือร่างกายได้รับสารอาหารไม่เหมาะสมกับวัย ส่งผลให้เกิดภาวะเตี้ย ผอม หรืออ้วน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจภาวะโภชนาการเด็กภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้[1] ครั้งที่ 2 หรือ SEANUTS II (South East Asian Nutrition Surveys II) ที่ได้ศึกษาภาวะโภชนาการในเด็กอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยกว่า 14,000 คน พบว่าช่วงวัย 6 เดือน – 12 ปี มีปัญหาด้านโภชนาการ ขาดสารอาหาร น้ำหนักเกิน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาวะและการเติบโตโดยรวมของเด็ก



นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านโภชนาการที่เกิดขึ้นกับเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและขาดโอกาส การทำงานร่วมกับโครงการ FOOD FOR GOOD จะช่วยเติมเต็มโภชนาการของเด็กไทยให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรงในการเรียนรู้และการเติบโต โดยเรามุ่งหวังที่จะจัดสรรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมกับเสริมความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้พวกเขามีความรู้และจะสามารถเลือกรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้องทั้งในปัจจุบันและเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเติบโตอย่างแข็งแรงและสามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ นับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนอย่างยั่งยืน”


คุณประภาพรรณ บรรลุศิลป์ รองผู้อำนวยการโครงการ FOOD FOR GOOD กล่าวว่า “เราซาบซึ้งที่ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยเชื่อมั่นในการให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหารและเข้ามาเป็นกำลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนงานนี้ให้สำเร็จ กว่า 8 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่สนับสนุนของการทำงานของ FOOD FOR GOOD ทำให้เราสามารถพัฒนาช่วยเหลือให้เด็กไทยใน 70 โรงเรียน ใน 10 จังหวัดได้รับโภชนาการที่ครบถ้วนและเหมาะสม ซึ่งธนาคารยูโอบี ประเทศไทย คือหนึ่งในองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้และให้การสนับสนุนทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ขอขอบคุณธนาคารยูโอบี ประเทศไทยที่สนับสนุนทั้งงบประมาณและช่วยสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาโภชนาการเด็กในประเทศไทย”



คุณครูวันวิสาข์ พุทธรักขิต โรงเรียนบ้านป่าบงท้าวแก่นจันทร์ จ. เชียงราย หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ FOOD FOD GOOD เล่าว่า “โรงเรียนของเรามีนักเรียน 91 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มาพักนอนที่โรงเรียน ทำให้โรงเรียนต้องดูแลอาหารทั้ง 3 มื้อ เป็นเรื่องที่มีความหนักใจพอควร แต่เมื่อทางโรงเรียนได้เข้าร่วมกับ FOOD FOR GOOD นอกจากจะได้รับงบสนับสนุนค่าอาหารเพิ่มเติมแล้ว สิ่งสำคัญคือคุณครูในโรงเรียนยังได้รับความรู้เรื่องการจัดบริการอาหารของเด็กนักเรียน วางแผนเมนูอย่างไร ตักเสิร์ฟอย่างไรให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย ทำให้โรงเรียนสามารถคำนวณวัตถุดิบที่จะใช้ในแต่ละสัปดาห์ได้ ช่วยให้เราบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมาเติมเต็มมื้ออาหารให้กับเด็กๆ ของเราให้ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีพัฒนาการที่ดีสมวัย ซึ่งโรงเรียนได้มีการเก็บข้อมูลภาวะโภชนาการของนักเรียนพบว่า นักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น”

ความร่วมมือกับ FOOD FOR GOOD เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของธนาคารยูโอบีในการสร้างผลกระทบ เชิงบวกและยั่งยืนให้กับชุมชนของเรา ผ่านโครงการเพื่อสังคมของธนาคารหรือที่มีชื่อว่ายูโอบี ฮาร์ทบีท ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในด้าน ศิลปะ การศึกษา และเยาวชน ผ่านการดำเนินงานใน 3 แนวทาง ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ความเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจ และการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการส่งต่อสิ่งดีคืนสู่ชุมชนร่วมกันกับพันธมิตร ลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธนาคาร

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages