ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUMT) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ร่วมให้บริการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยเทคนิค real-time RT-PCR โดยได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคระดับโมเลกุล เพื่อการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ณ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า ในระยะแรก คณะเทคนิคการแพทย์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยตัวอย่างจากศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นหลัก ต่อมาคณะเทคนิคการแพทย์ ได้ขยายบทบาทการให้บริการจากการตั้งรับ เป็นการให้บริการเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ (active case finding) โดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเรามุ่งเน้นการตรวจหาเชื้อให้แก่ กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพได้ยาก กลุ่มผู้ต้องขังแรกรับในเรือนจำต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในเรือนจำซึ่งมีคนอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก และประชาชนทั่วไปที่เข้าข่ายความเสี่ยงสูง ในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นนทบุรี และ สำนักอนามัย กทม. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังให้บริการตรวจคัดกรองนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีความเสี่ยงสูงอีกด้วย
ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่คณะฯ ให้บริการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อก่อโรค COVID-19 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกให้บริการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ (Nasopharyngeal and throat swap) และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 40,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564)
No comments:
Post a Comment