RISC by MQDC จับมือ ม.พะเยา เดินหน้า “ฟ้าใส 2 สู่พะเยา” ขยายผลหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อประชาชนในภูมิภาค ต่อยอดงานวิจัยสู่ความเข้าใจฝุ่น PM 2.5 เขตภาคเหนือ - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Wednesday, June 2, 2021

RISC by MQDC จับมือ ม.พะเยา เดินหน้า “ฟ้าใส 2 สู่พะเยา” ขยายผลหอฟอกอากาศระดับเมือง เพื่อประชาชนในภูมิภาค ต่อยอดงานวิจัยสู่ความเข้าใจฝุ่น PM 2.5 เขตภาคเหนือ

4.Fahsai%2B2%2BPhayao


1 มิถุนายน 2564 กรุงเทพฯ – ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ภายใต้บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) จับมือกับ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ เดินหน้าขยายผลหอฟอกอากาศระดับเมืองเพื่อประชาชนสู่ภูมิภาค เปิดตัว “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2) ที่ จ.พะเยา” ซึ่งนับเป็นหอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส แห่งที่ 3” ของประเทศไทย และนับเป็นครั้งแรกที่ “ฟ้าใส” ได้ติดตั้งในส่วนภูมิภาค เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดพะเยา

 

2.Dr.Singh%2BRISC

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) กล่าวว่า RISC ต่อยอดงานวิจัยภายใต้หลักการ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” ที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิต โดยจับมือกับสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดตัวหอฟอกอากาศระดับเมืองอัตโนมัติแบบไฮบริด เวอร์ชันที่ 2 หรือ “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2)” ที่ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหอฟอกอากาศระดับเมืองเพื่อประชาชนในส่วนภูมิภาคแห่งแรก และนอกจากจะช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้วยังช่วยกรองเชื้อโรคในอากาศอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยใน 7 ด้านหลักของ RISC by MQDC ในด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Wellness) ซึ่งมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ในเป้าหมายที่ 3) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) 6) การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) 11) เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) และ 15) การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land)

“พะเยาเป็นจังหวัดที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงติด 1 ใน 3 ของภาคเหนือ โดยแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นในพะเยาเกิดจากการเผาชีวมวลในที่โล่ง และใน 2-3 ปีที่ผ่านมาปริมาณ PM2.5 สูงขึ้น บางวันสูงมากกว่า 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในพื้นที่เผาและพื้นที่ท้ายลม การหายใจฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก เช่น ระบบทางเดินหายใจและปอด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในสมอง หลอดเลือดสมองตีบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงสูงต่อการกำเริบของโรคยิ่งขึ้นได้ RISC ต้องการสนับสนุนการใช้นวัตกรรมในการช่วยให้คุณภาพอากาศของภาคเหนือดีขึ้น และการมุ่งมั่นในการวิจัยเรื่องฝุ่นขนาดเล็ก เพื่อหาแนวทางร่วมกับพันธมิตรในการช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศทั้งในเขตเมืองและภูมิภาค “ฟ้าใส 2 พะเยา” มีศักยภาพในการฟอกอากาศและฆ่าเชื้อ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในภาคเหนือ โดยมีพะเยาเป็นจังหวัดนำร่อง รวมทั้งยังมีความร่วมมือด้านงานวิจัยศึกษาคุณภาพอากาศ เพื่อเข้าใจพฤติกรรมและอนุภาคมลสารที่ปะปนอยุู่ในฝุ่น ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เนื่องจากแหล่งที่มาของฝุ่นขนาดเล็กที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมและถ่ายทอดสำหรับหลายๆ พื้นที่ต่อไป” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว

 

1.Assoc.%2BProf.%2BDr.%2BSupakorn%2BPongbangpho%252C%2BChancellor%2Bof%2Bthe%2BUniversity%2Bof%2BPhayao

รศ.ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยพะเยามีความยินดีในการร่วมผลักดันให้เกิดการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่่ทำลายสุขภาพ และพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ร่วมกับ RISC by MQDC จึงสนับสนุนพื้นที่ในการติดตั้งนวัตกรรม “หอฟอกอากาศระดับเมืองแบบไฮบริด” เป็นที่แรกในภาคเหนือ เพื่อช่วยในการลดมลพิษทางอากาศฝุ่นขนาดเล็ก และร่วมกันวิจัย โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ RISC ทำการศึกษาคุณภาพอากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพและการสร้างองค์ความรู้การป้องกันตัวเองจากฝุ่นควัน และการจัดเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของฝุ่นควันบริเวณมหาวิทยาลัย และพื้นที่โดยรอบหอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2) พะเยา” และจัดทำฐานข้อมูลปริมาณฝุ่นด้วยระบบดิจิตอลร่วมกัน

สำหรับหอฟอกอากาศระดับเมืองเพื่อประชาชน “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2) ที่ จ.พะเยา” ใช้เทคโนโลยีเดียวกับ “ฟ้าใส 2” บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน กรุงเทพฯ โดยมีการทำงานด้วยระบบฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ทำงานด้วยการนำพลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ร่วมกันกับระบบพลังงานไฟฟ้าภูมิภาค เพื่อลดภาระการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน ออกแบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางสุขภาวะและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น มีความพิเศษกว่า ฟ้าใสรุ่นแรก คือ เพิ่มความสามารถในการฆ่าแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้ โดยใช้รังสี UVC และโอโซน

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังขนาดของพัดลมออก จากเดิม 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เป็น 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 4 ใบพัด รวมเป็น 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 สนามฟุตบอล ​ แต่ลดขนาดของตัวเครื่องลง เหลือความสูงเพียง 5.10 เมตร และฐานกว้าง 2.40 เมตร เพื่อเข้าถึงพื้นที่ติดตั้งได้ง่ายขึ้น และประหยัดต้นทุนการก่อสร้าง​การปรับตำแหน่งพัดลมเป่าออก เพื่อป้องกันลมย้อนกลับมาในเครื่อง (Reversed Airflow) การออกแบบแผงดักความชื้นบริเวณช่องลมออกใหม่ เพื่อป้องกันละอองน้ำที่จะออกมาพร้อมกับลม การออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ให้ปรับระดับได้ เพื่อควบคุมทิศทางลมสะอาดให้อยู่ในระดับใช้งานและระยะการทำงานไกลขึ้น รวมทั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามแสงอาทิตย์ แผงจะกางออกเพื่อรับแสงแดดในเวลากลางวัน และจะหุบแผงในเวลากลางคืน พร้อมกับเปิดไฟส่องสว่าง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่โดยรอบ​

ทั้งนี้หอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส” รุ่นแรก (Fahsai)” ติดตั้งบริเวณ 101 True Digital Park ในปี 2563 และเมื่อต้นปี 2564 RISC by MQDC ได้เปิดตัวฟ้าใส รุ่นที่ 2 หรือ “ฟ้าใส 2 (Fahsai 2)” หอฟอกอากาศระดับเมืองเพื่อประชาชน ณ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสัน เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเชื้อโรคในอากาศ และหวังเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนี้สำหรับหลายๆ พื้นที่ต่อไป

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages