กรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 51 ปี มุ่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ สร้างกลุ่มอาชีพสนับสนุน การแปรรูปสินค้าเกษตร เข้าถึงเงินทุน มีเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับปรุงกระบวนการแปรรูป สร้างมูลค่าสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้ ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้สมาชิกสหกรณ์” พร้อมป้องกันปราบปรามการทุจริตในสหกรณ์ ควบคู่การจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพเป็นองค์กรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกร
วันนี้ (29 ก.ย. 66) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ “เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์” ครบรอบ 51 ปี พร้อมมอบรางวัลแก่หน่วยงานและบุคคลดีเด่นของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประจำปี 2566 โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กว่า 600 คน ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ ถนนกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “ได้มอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานขอให้ร่วมกันพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็ง และขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้สมาชิกสหกรณ์ มุ่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพ สนับสนุนสมาชิกสหกรณ์ให้เข้าถึงทรัพยากรการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ เงินทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีเครื่องมือ อุปกรณ์การตลาดที่ทันสมัย เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้าการเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าและขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม ทำงานแบบเชิงบูรณาการ ร่วมบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีศักยภาพในการแข่งขันจนเป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สหกรณ์ตั้งอยู่ เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กับความเจริญก้าวหน้าของสหกรณ์ ตลอดจนการดูแลสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับสมาชิกได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้นด้วย ขอให้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประชาชนพี่น้องเกษตรกรอยู่ดีกินดี มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2567 กรมฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสหกรณ์และขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เดินหน้านโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การพักหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับการสร้างอาชีพสร้างรายได้ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เกิดการเชื่อมต่อกันเป็นห่วงโซ่อย่างครบวงจร ทั้งการผลิตการรวบรวม การแปรรูป และการตลาดเพื่อกระจายสินค้าคุณภาพของสหกรณ์ พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการสำรวจพื้นที่รายแปลงส่วนที่เหลือกว่า 200,000 ไร่ เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ กสน.3 และ กสน.5 ให้แก่เกษตรกรสมาชิกนิคมสหกรณ์ และการจัดที่ดินทำกินให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ จัดการที่ดินในนิคมเช่า 13 นิคม 14 ป่า ให้เป็นนิคมสหกรณ์ทั้งหมด นอกจากนี้ มีมาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริตในสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ทุกประเภทที่มีทุนการดำเนินงาน 100 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีแอพพลิเคชันให้บริการสมาชิกใช้ตรวจสอบสถานะทางบัญชีของตนเอง ตรวจสอบสถานะของสหกรณ์ รวมไปถึงการจัดตั้งสหกรณ์อย่างมีคุณภาพ การควบรวมสหกรณ์ขนาดเล็กให้เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมีความเข้มแข็ง ส่งเสริมสหกรณ์ที่มีอยู่ให้เติบโตขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาบุคลากร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ให้มีความรู้ ทักษะในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน มี Growth Mindset เพื่อที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสามารถเข้าไปดำเนินงานร่วมกับสหกรณ์ที่รับผิดชอบได้ มุ่งพัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น
สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรที่ส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ด้วยนวัตกรรมและหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล 7 ประเภท แบ่งเป็นสหกรณ์ในภาคการเกษตรและสหกรณ์นอกภาคการเกษตร รวม 7,545 แห่งทั่วประเทศ และมีกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในการกำกับดูแลกว่า 4,000 แห่ง มีสมาชิกรวมกว่า 11.6 ล้านราย มีปริมาณธุรกิจรวมกว่า 2.3 ล้านล้านบาท “สหกรณ์” เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรที่มีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก มีหน้าที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่จะต้องเข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหาร การแปรรูป การตลาดและนวัตกรรมเทคโนโลยี และเพิ่มรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์ พร้อมกับการมีธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรหลักสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง
No comments:
Post a Comment