ชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก อยู่ในตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน 125 ครัวเรือน ประชากร 400 คน อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ในอดีตทรัพยากรป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีอาชีพที่พึ่งพิงกับป่า ด้วยการปลูกชาอัสสัม หรือชาเมี่ยง เพื่อทำเมี่ยงหมัก และเก็บหาของป่า แต่ด้วยมีประชากรเพิ่มขึ้น และเริ่มมีเทคโนโลยีเข้าไปในชุมชน กอปรกับความนิยมบริโภคเมี่ยงหมักลดลง ทำให้ชุมชนมีรายได้ลดลง เกิดปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และใช้สารเคมีการเกษตรสูง ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในป่าที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชนเริ่มลดน้อยลง โดยพบว่าพืชท้องถิ่นที่ชุมชนมีการใช้ประโยชน์ 19 ชนิด อยู่ในสถานภาพเป็นพืชหายากหรือใกล้สูญหายจากพื้นที่ ชุมชนต้องพึ่งพาอาหาร (ข้าวและกับข้าว) ยารักษาโรค และไม้ใช้สอยจากภายนอกมากขึ้น ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) โดยโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี ได้เริ่มดำเนินการในชุมชนป่าเมี่ยงแม่พริก ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคงด้านอาหาร และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งลดการบุกรุกป่า ฟื้นฟู อนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก “การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนแบบโครงการหลวง” และได้นำแนวทางของ “โครงการธนาคารอาหารชุมชนตามพระราชดำริ” (Food Bank) พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการสร้างแหล่งอาหารในผืนป่าและในชุมชน เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคประจำวันและหมุนเวียนตลอดทั้งปี
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนบ้านป่าเมี่ยงแม่พริก มีแหล่งอาหารจากพืชท้องถิ่น ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารจากธรรมชาติได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถเพาะปลูกข้าวเพื่อบริโภค ซึ่งทำให้ลดรายจ่ายจากการต้องซื้อจากภายนอกลงกว่าร้อยละ 50 “ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร” โดยสามารถผลิตข้าวได้ 3,000 กิโลกรัม/ปี และมีพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นสำหรับใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 53 ชนิด ชุมชนมีอาชีพที่หลากหลายและเกื้อกูลป่า สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ทำให้มีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีพ “ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้” ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการอรุรักษ์ฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับทั้งภายในประเทศและนานาชาติ
โดยชุมชนปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นปลูกข้าวไร่ และข้าวเหนียวดำพันธุ์ลืมผัว จำนวน 23 ครัวเรือนในพื้นที่ 150 ไร่ ผลผลิตข้าวรวม 3,000 กิโลกรัม ทำให้ชุมชนมีผลผลิตข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปี สามารถลดรายจ่ายจากการซื้อข้าวเพื่อบริโภคในระหว่างปี พ.ศ.2562-2563 ได้ถึง 178,984 บาท และพัฒนาปริมาณการผลิตข้าวก่ำพันธุ์ข้าวลืมผัวให้มากขึ้นเพื่อการจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน โดยเกษตรกรมีการรวมกลุ่มและจดทะเบียน “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปข้าวป่าเมี่ยงแม่พริก” เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และมีเครื่องหมายการค้า “ตราดอกเมี่ยง” โดยมีสมาชิก 13 ราย สร้างรายได้ให้แก่กลุ่ม 25,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงา 30 ครัวเรือน พื้นที่ 131 ไร่ ผลผลิตกาแฟกะลา 5,141 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวม 723,965 บาท ชาอัสสัม 450,000 บาท การเพาะปลูกไม้ผล 48 ครัวเรือน รายได้ 363,406 บาท และอื่น ๆ 12,782 บาท
ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 83.5 (จากพื้นที่ปลูกเดิม 850 ไร่ เหลือ 140 ไร่) โดยปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานและไม้ผลยืนต้น ลดการเผาเตรียมพื้นที่ และลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับผืนป่า 53 ชนิด มีค่าดัชนีความหลากหลายของพรรณพืช (Species diversity index) เท่ากับ 2.97 และป่ารอบชุมชน 8,932 ไร่ ได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู โดยชุมชนและหน่วยงานร่วมบูรณาการ ป่ามีค่าการสะสมคาร์บอนในมวลชีวภาพเฉลี่ย 11.75 ตัน/ไร่
No comments:
Post a Comment