พช.สัมพันธ์สัญจร ครั้งที่ 2 เกาะกูด จ.ตราด วันที่ 20-22 เมษายน 2562 - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Thursday, May 2, 2019

พช.สัมพันธ์สัญจร ครั้งที่ 2 เกาะกูด จ.ตราด วันที่ 20-22 เมษายน 2562


เมื่อวันที่ 20-22 เมษายน 2562 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมและสื่อมวลชนลงพื้นที่ตามโครงการ “พช.สัญจร ครั้งที่ 2 เกาะกูด จ.ตราด”


เพื่อศึกษาความสำเร็จของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่กรมการพัฒนาชุมชนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และเห็นผล


​การขับเคลื่อน “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” นับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของการพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ และเป็นโครงการนี้ที่ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าจะเข้าไปมีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมได้อย่างไร และมีวิธีดำเนินการรูปแบบไหน กรมฯลงไปสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อม มีสินค้า OTOP และมีทุนหรือเสน่ห์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น เสนอเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น วิถีชีวิตอัตลักษณ์ ทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชน

​สำหรับโครงการ พช.สัมพันธ์สัญจร ถือเป็นโครงการที่จะมีส่วนช่วยเสนอภาพลักษณ์ของกรมการพัฒนาชุมชนได้อย่างชัดเจนในทุกมิติ พร้อมกับเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ภารกิจ รวมถึงผลการดำเนินงานของกรมฯ จากสถานที่ปฏิบัติงานจริง โดยครั้งนี้ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยังชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เกาะกูด จ.ตราด


​“เกาะกูด” เกาะที่ได้รับการขนานนามว่า “อันดามันแห่งทะเลตะวันออก” และเมื่อไปถึงที่หมายก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะหาดทรายสะอาดเหลืองอร่ามสุดๆ ยิ่งสะท้อนกับแสงแดดยิ่งระยิบระยับวับวาว แต่ไม่ใช่แค่หาดทรายเท่านั้นที่ดึงดูดสายตา เพราะมองไปที่น้ำทะเลแล้วก็จะเห็นเป็นสีเขียวมรกต งดงามยิ่งกว่าทะเลที่เคยพบเห็นมาก่อน แต่มาถึงทั้งทีจะสำรวจเฉพาะชายหาดและน้ำทะเลก็คงไม่ได้ เลยต้องสำรวจรอบๆ เกาะดูด้วย ก่อนมาก็ศึกษามาแล้วว่าที่นี่เป็นที่ที่มีธรรมชาติสมบูรณ์ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงทั้งหมดแบบไม่ผิดเพี้ยนเลย มีทั้งภูเขาและเป็นที่ราบสันเขา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำและลำธาร เกาะกูดจึงมีน้ำตกหลายแห่งด้วยกัน


​เมื่อสำรวจเกาะกูดจนหนำใจแล้ว ขอไปต่อกันที่ “อ่าวสลัด” อ่าวนี้สวยงามตรงที่มีรูปร่างโค้งเป็นตัวยู มีท่าเทียบเรือเป็นแหล่งขนส่งและจำหน่ายสินค้าของชาวประมงบนเกาะกูด ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนเต็มไปด้วยบ้านเรือนมากมาย และสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวเกาะกูดได้เป็นอย่างดี ที่อ่าวนี้ยังสามารถเดินทางโดยรถสองแถวต่อไปได้อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหาดตะเภา, หาดคลองเจ้า, บ้านคลองหินดำ หรือบ้านคลอง จากนั้นได้เดินทางไปยัง “บ้านคลองเจ้า” ที่ที่เต็มไปด้วย “วิถีชีวิต” เพราะชาวบ้านที่นี่มีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม แม้ว่ากะกูดจะกลายเป็นทีท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกวันก็ตาม แต่ชุมชนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเกาะกูดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันฉันพี้น้อง ทั้งยังมีการบริหารจัดการภายในชุมชนอย่างแข็งแกร่ง


สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตสินค้า OTOP จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เกิดเป็นรายได้กระจายไปยังคนในชุมชน อีกทั้งมีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ไว้เป็นแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพอีกต่างหาก การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทำให้บ้านคลองเจ้าได้ร่วมกันจัดเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในบ้านคลองเจ้า สัมผัสวิถีคนในชุมชน ​จากการได้ร่วมถ่ายทอดความรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรงการแยกขยายรังชันโรง “ชันโรง “ผึ้งจิ๋ว” แมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ สรรพคุณทางยาเพียบ อาทิเช่น รักษาอาการเจ็บคอ} รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ,


รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร, ฆ่าเชื้อโรค, ล้างไขมัน, บำรุงผิวพรรณ, บำรุงสายตา , บำรุงประสาท, มีสารต้านอนุมูลอิสระ, มีสารต้านมะเร็ง น้ำผึ้งจากชันโรง มีคุณสมบัติเป็นเลิศเหมือนน้ำผึ้งทั่วไปทุกประการ แต่เหนือกว่าด้วยความเข้มข้นของน้ำผึ้ง ชันโรงไม่กินน้ำ แต่กินเกสร และน้ำหวานจากดอกไม้ ผลไม้ พืชสมุนไพร จึงมีความเหนือกว่าผึ้งทั่วไป ด้วยคุณสมบัติการแสวงหาและสะสมอาหารของชันโรง เพราะชันโรงกินเกสร และน้ำหวานจากพืชสมุนไพรด้วย และมักเป็นสมุนไพรที่รักษาโรคต่างๆ ตลอดจนเป็นสมุนไพรที่ดูแลสุขภาพผู้บริโภค จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรง เป็นน้ำผึ้งที่อุดมคุณค่าทางอาหารและยา มากกว่าน้ำหวานจากผึ้งทั่วไป เนื่องจากสรีระของผึ้งชันโรงมีความต่างจากผึ้งธรรมดา และด้วยอุปนิสัยในการหาอาหารของชันโรงที่เหนือกว่าผึ้งธรรมดา เพราะช่างสรรหาดอกไม้และพืชสมุนไพรที่ป้องกันและรักษา


โรคต่างๆ น้ำผึ้งและชันของผึ้งชันโรงจึงมีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็ง เบาหวาน ความดัน และอื่นๆ ​ จากผลการวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่าน้ำผึ้งและชันจากผึ้งชันโรง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 สารไนอาซิน สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง


​แล้วไปต่อกันที่ “เขาเรือรบ” เพื่อรับชมปฏิมากรรมที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ กับภูเขาหินทรายที่ถูกน้ำเซาะกัดจนเป็นร่องดูแล้วคล้ายกับเรือรบ 3 ลำจอดเทียบท่าเรียงกันอยู่ โดยบริเวณด้านบนได้ปรับแต่งให้เหมือนหัวเรือรบ และประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาะกูด จากนั้นเดินศึกษาธรรมชาติคลองค้างคาวเขาเรือรบกันต่อ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่ทำให้ได้พบกับพันธุ์ไม้หายากมากมายและพืชสมุนไพรหลากหลาย ที่เฉพาะจะพบในเขตป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์


​ต่อมาที่หาดคลองระหาน หาดแห่งความเงียบสงบ ไม่มีที่พักรบกวน มีแต่น้ำทะเลใสสะอาดและหาดทรายขาวยาวตลอดแนว พรั่งพร้อมไปด้วยทิวมะพร้าวริมหาดทำให้ร่มเย็น ฝั่งตรงข้ามยังเป็นเกาะแรด ที่มีทะเลสวยงาม และยังเป็นเกาะสุดท้ายในน่านน้ำทะเลตราด มองไปตรงไหนก็จะพบเรือจอดอยู่บ้าง 2-3 ลำ นักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปแวะเวียนและชมบรรยากาศธรรมชาติสวยงามบนหาดคลองระหานกันมากพอสมควร

​ความสำเร็จของโครงการ OTOP นวัตวิถี เกาะกูด จ.ตราด การสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทุนในชุมชนทั้ง 5 ด้าน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวแก่คนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างเป็นธรรม มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตสินค้า OTOP จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ด้วยศักยภาพทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนทำให้บ้านคลองเจ้าได้รับงบประมาณจัดทำโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนได้ร่วมกันจัดเส้นทางการท่องเที่ยว

​หลังจากที่มีโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในตัวคุณภาพของสินค้ามากขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะนอกจากชุมชนจะมีการประชาสัมพันธ์ตัวเองอย่างต่อเนื่องแล้ว ทางโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดีเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์รวมวัฒนธรรม และความรักความสามัคคีของชาวเกาะกูด จ.ตราด อีกด้วย ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ได้แก่ การบริหารจัดการและรู้จักประสานงาน การแก้ไขปัญหา เป็นที่มาของสถานพักผ่อนแบบธรรมชาติ ที่ยังรักษาสิ่งแวดล้อมไว้เป็นอย่างดี ในส่วนของนักท่องเที่ยว ถือได้ว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

​การนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปเกิดการับรู้แล้ว ยังนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบประชารัฐ และขับเคลื่อนโครงการสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยลดการเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนในชุมชน เสริมสร้างความแกร่งให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages