เรื่องเล่าจากแพทย์ผิวหนังดีเด่น DST ปี 2565 พญ.ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, May 6, 2022

เรื่องเล่าจากแพทย์ผิวหนังดีเด่น DST ปี 2565 พญ.ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ

 


สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ประกาศผลแพทย์ผิวหนังดีเด่นด้านการบริการชุมชน ประจำปี 2565 ได้แก่ พญ.ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่11 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และปฏิบัติหน้าที่แพทย์เฉพาะทางผิวหนัง ประจำศูนย์สาธิตบริการโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

       


       
ผลงานที่โดดเด่นของ พญ.ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ มีหลากหลายด้านได้แก่ ด้านโรคเรื้อนและด้านการให้บริการตรวจ รักษา ส่งเสริมป้องกันควบคุมโรค และฟื้นฟูสภาพป่วยและผู้พิการจากโรคเรื้อนในชุมชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 - ปัจจุบัน โดย ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยและผู้พิการจากโรคเรื้อน ประมาณปีละ 400-500 ราย นอกจากนี้ยังทำงานให้กับศูนย์สาธิตบริการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการพัฒนาระบบการค้นหา วินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนและผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านผิวหนังในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช โซนพื้นที่ทางฝั่งอ่าวไทยส่วนฝั่งอันดามันเริ่มตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่และภูเก็ต อีกด้านหนึ่งให้บริการตรวจรักษาโรคผิวหนังและโรคเรื้อน ในศูนย์สาธิตบริการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 ประมาณ 600 รายต่อเดือน

พญ.ศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ได้นำนวัตกรรมประยุกต์ โดยใช้เทคโนโลยี อีเมล ไลน์ และวิดีโอคอล ในการตรวจ ค้นหาวินิจฉัยโรคเรื้อน และยังศึกษาวิจัยโรคพิษสารหนูเรื้อรังจากการบริโภคน้ำที่มีสารหนูเจือปนในพื้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 24 มีอาการทางผิวหนัง เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิว มีตุ่มที่ฝ่ามือฝ่าเท้า และร้อยละ 20 ของผู้ได้รับสารหนูเป็นมะเร็งผิวหนัง และยังได้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรคพิษสารหนูเรื้อรัง ส่วนอีกงานหนึ่ง ได้ทำงานด้านจิตอาสาในชุมชนและสนับสนุน พัฒนาหน่วยงานเครือข่ายให้จัดตั้งเครือข่ายจิตอาสาราชประชาสมาสัย ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เพื่อให้การช่วยเหลือดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้กระทบจากโรคเรื้อนและโรคเอดส์และภัยสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชน

คุณหมอศิริลักษณ์เป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด จบแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีพ.ศ.2530 เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ หลังจากนั้นในปี 2534 ได้มาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางแพทย์ผิวหนัง ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อจบก็ไปทำงานที่รพ.ศูนย์มหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันยังทำการตรวจรักษาโรคผิวหนังที่ศูนย์สาธิตบริการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช

พญ.ศิริลักษณ์ กล่าวว่า สังคมโดยทั่วไป หมอผิวหนังมักจะถูกมองว่าเน้นเรื่องของความสวยความงาม แต่เมื่อได้มาทำงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็พบว่าคนไข้ที่นี่ ป่วยเป็นโรคผิวหนังมีจำนวนมากและปัจจุบันก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ทำงานที่แผนกผู้ป่วยนอกโรคผิวหนัง โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ได้ประมาณ 6 ปี มีผู้ป่วยมารับบริการรักษาต่อวันประมาณ 80 - 100 คนต่อวันทุกสัปดาห์เป็นอย่างนี้มาตลอด ผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีความต้องการแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนังที่ให้บริการตรวจรักษา นอกจากนั้นก็จะมีปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มาด้วยอาการทางผิวหนัง แต่ในยุคปัจจุบันยาต้านไวรัสได้ผลดีกับผู้ป่วย HIV ทำให้จำนวนผู้ป่วยมีจำนวนลดลง แต่ในขณะเดียวกันโรคภูมิแพ้ผิวหนังกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในการทำงานด้านแพทย์ผิวหนังที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อ HIV เป็นหลัก ปัจจุบันผู้ป่วยโรคเรื้อนมีจำนวนน้อยลงมากแต่มีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง โดยใช้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้มีการค้นหาเฝ้าระวังในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าว เช่น ชุมชนแพปลา ชุมชนชาวเล โรงงานที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นต้น หากพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ เราจะต้องเข้าไปสอบสวนว่ารับเชื้อมาจากไหน มีใครเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงบ้าง ทำการตรวจ ค้นหาและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน

“อยากเชิญชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ แพทย์ผิวหนัง ลองตัดสินใจมาทำงานที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดบ้าง เชื่อได้ว่าจะได้ประโยชน์ มีเรื่องท้าทายให้เรียนรู้ มีโอกาสทำงานที่มีมากกว่าเรื่องผิวหนังเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการลงไปในชุมชนทำให้เราได้ทราบปัญหา และช่วยประชาชนได้มาก ช่วงแรกอาจจะไม่คุ้นชินนัก อาจจะรู้สึกเหนื่อย แต่เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง เราเข้าใจพื้นที่ เข้าใจคนไข้ เราก็จะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสังคมได้มาก” พญ.ศิริลักษณ์ กล่าวกล่าวทิ้งท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages