เปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงสุขภาพแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี “บึงกรับใหญ่” - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, November 4, 2019

เปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงสุขภาพแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี “บึงกรับใหญ่”





บนพื้นที่ 180 ไร่ เป็นสถานที่ส่งเสริมสุขภาพ อันประกอบด้วยลานออกกำลังกายแอโรบิค ลู่วิ่งและปั่นจักรยาน รอบบึงยาว 2.8 กม. และเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมและการฝึกอบรมและการพักผ่อนในรูปแบบของแพพักและแพอาหารของดีชุมชนตำบลกรับใหญ่ เป็นพื้นที่ปกครองส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านโป่งมีพื้นที่ประมาณ 44.24 ตร.กม. มีประชากรประมาณ 12,902 คน มี 11 หมู่บ้าน พื้นที่ทิศเหนือติดกับ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ทิศใต้ติดกับตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และทิศตะวันตกติดกับอำเภอท่ามะกา จังหวัดราชบุรี ประชาชนมีหลายเชื้อชาติทั้งไทย ลาว จีน มอญ การดำเนินชีวิตเรียบง่าย มีประเพณีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเองดังคำขวัญของตำบล “ดินแดนสามเมือง ลือเลื่องอ้อยหวาน ปลอดสารผักสด หยาดหยดน้ำนมโค เติบโตเศรษฐกิจ สุจริตคิดเป็น งามเด่นเบญจอาราม ประพฤติงามรักความสามัคคี” พื้นที่แห่งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากนายรุ่งโรจน์ เจนวิวัฒน์ มอบให้นายกู้ตระกูล ว่องกุศลกิจ นายกเทศมนตรีตำบลกรับใหญ่ โดยผ่านมูลนิธิไฉ่ ฟ้า ว่องกุศลกิจ และภายหลังได้มอบให้เทศบาลกรับใหญ่ เพื่อประโยชน์กับทางราชการ จึงได้มีแนวคิดในการปรับปรุงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน นับเป็นสถานที่ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนในชุมขนรวมถึงชุมชนข้างเคียงและนักท่องเที่ยวที่รักสุขภาพ และยังช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับการส่งเสริมให้ผลิตอาหารที่ปลอดภัย จำหน่ายนักท่องเที่ยวเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้อีกทางหนึ่งด้วย.





บ้านห้วยกระบอก


“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี” คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี มีสัญลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นต้นโมกมัน ดอกกัลปพฤกษ์ และปลายี่สก ห่างจากกรุงเทพฯ 110 กิโลเมตร ณ อำเภอบ้านโป่ง ตำบลกรับใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของ “บ้านห้วยกระบอก” ชุมชนจีนแคะโบราณ เป็นชุมชนที่ชาวจีนโพ้นทะเลเชื้อสายจีนแคะ หรือฮากกา เดินทางเข้ามาตั้งรกรากและมีพี่น้องชาวจีนแคะแถบฟุ้งสุ่น ท้องคั้ง จังหวัดเหมยโจ มณฑลกวางตุ้ง เดินทางเข้ามากขึ้น ห้วยกระบอกจึงกลายเป็นชุมชนใหญ่แห่งหนึ่ง ในอดีตชุมชนบ้านห้วยกระบอกเป็นชุมทางของคนจีนที่อพยพมาจากประเทศจีน หนีภัยจากความอดอยากและสงคราม คนจีนเชื้อสายแคะ ที่อพยพมาประเทศไทย เกือบทั้งหมดจะอพยพมาอยู่ที่บ้านห้วยกระบอกเป็นจุดแรก เมื่อทำใบต่างด้าวและใบอนุญาตทำงานแล้วจึงแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพในที่ต่างๆ กล่าวได้ว่าคนจีนเชื้อสายแคะประเทศไทยเกือบทั้งหมดมีความเกี่ยวพันกับบ้านห้วยกระบอกไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อมีโอกาสมักจะเดินทางมาเยี่ยมเยียนเพื่อดูถิ่นฐานเดิมที่ตนหรือบรรพบุรุษมาตั้งรกรากครั้งแรกในประเทศไทย


ปัจจุบันมีผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายศาสนา และเชื้อชาติมาตั้งรกรากบ้านเรือนในตลาดห้วยกระบอก มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นวิถีชีวิตแบบชาวจีน หลักความสำคัญปัจจุบันของชุมชนตลาดห้วยกระบอกคือการเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ใหญ่แห่งหนึ่งของดินแดนชายขอบ 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี เป็นจุดที่สามารถเดินทางข้าม 3จังหวัดได้ภายใน 1 นาที บ้านเรือนในตลาดเป็นบ้านไม้อายุเก่าแก่กว่า 100 ร้อยปี มีร้านอาหารท้องถิ่นของชุมชนเปิดขายอาหารจีนแคะและอาหารอื่นๆ ในช่วงเทศกาลต่างๆ ชาวห้วยกระบอกยังคงมีการอนุรักษ์การทำอาหารท้องถิ่นของชาวจีนแคะไว้เป็นอย่างดี มีการไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ แต่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญน้อยลง

ปัจจุบันห้วยกระบอกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยเชื้อสายจีนแคะจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ในทุกสัปดาห์จะมีคณะท่องเที่ยวจากจังหวัดต่างๆ มาเยี่ยมชมตลาดโบราณอายุกว่า 160 ปี และต้องมาสักกาละศาลเจ้าพ่อสามภูเขา การจัดตั้งศาลเจ้าพ่อสามภูเขาชุมชนจีนแคะอื่นๆ ในประเทศไทย จะต้องนำผงธูปจากที่บ้านห้วยกระบอกไปทำพิธี เนื่องจากศาลที่ชุมชนห้วยกระบอกเป็นองค์พระแท้ที่เดียวที่นำมาจากประเทศจีนพร้อมการอพยพ ในแต่ละปีจะมีพิธีสักการะเจ้าพ่อสามภูเขาเป็นงานประจำปี และคนไทยเชื้อสายจีนแคะจากทั่วประเทศและจากเมืองปีนัง ประเทศมาเละเซีย จะเดินทางมารวมตัวกันเพื่อสักกาละพร้อมกันทุกปี โดยในงานจะมีกิจกรรมหลัก คือ แห่เจ้าพ่อ การแสดงอุปรากรจีน การจัดงานถนนคนเดินวัฒนธรรมจีนแคะ มีการจำหน่ายอาหารจีนโบราณ ซึ่งมีหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ส่งผ่านมาหลายชั่วอายุคน เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ประกอบกับบริเวณรอบตลาดห้วยกระบอกยังสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น โบราณสถานศาลาตึก ซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เคยทรงประทับแรมระหว่างประพาสน้ำตกไทรโยค นมัสการพระแท่นดงรัง อาคารโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของประเทศ วัดรางหมัน ซึ่งมีเกจิอาจารย์ชื่อดัง หลวงปู่แผ้ว ปวโร และวัดไร่แตงทอง ซึ่งมีพญาเต่าเรือนเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ปัจจุบันในพื้นที่ยังมีของโบราณที่มากับการอพยพของชาวจีนเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ศาลเจ้าโบราณ เป็นศาลไม่แกะสลักลวดลายจีน ใช้สลักไม้ยึด ถอดเป็นชิ้นส่วนมาประกอบ อายุกว่า 200 ปี หีบเหล็ก หีบไม้ใส่เครื่องใช้ในการเดินทาง เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ โถเหล้า กาน้ำชา สมัยราชวงศ์สุ่ย องค์เจ้าพ่อสามภูเขาไม้แกะสลักองค์จริงเพียงหนึ่งเดียวในเมืองไทย ตำรายาโบราณ นอกจากนั้นยังมีการรวบรวมประวัติของตระกูลแซ่ต่างๆ จากเมืองจีน พร้อมสาแหรกของตระกูล มากกว่า 40 ตระกูลแซ่ มากที่สุดในประเทศไทย


ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานชมรมจีนแคะบ้านห้วยกระบอกจึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมจีนแคะ และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นกลไกในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนแคะของชาวบ้านห้วยกระบอกให้คงอยู่ตลอดไป.

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages