ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตด้วยพลังคนรุ่นใหม่และไอเดียสร้างสรรค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2023 เปิดเวทีแสดงพลังนวัตกรรม วิศวกรรมและเทคโนโลยีจากบรรดาเมคเกอร์นักศึกษา ว่าที่วิศวกรในอนาคต มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัยที่ก้าวหน้า 4 ทีมคว้ารางวัลชนะเลิศใน 4 คลัสเตอร์ โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ศิษย์เก่า นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมงาน ณ อาคารมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ผลงานนวัตกรรมที่คว้า รางวัลชนะเลิศ Mahidol Engineering Maker Expo 2023 ใน 4 คลัสเตอร์ มีดังนี้
ผลงาน อุปกรณ์ตรวจจับความง่วงโดยใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านพวงมาลัยรถยนต์ (Drowsiness Detection using ECG on Steering Wheel) คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมเฮลท์แคร์ นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่จะช่วยชีวิตและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนจากอาการหลับใน ด้วยอุปกรณ์การตรวจจับความง่วง ที่คิดค้นและออกแบบมาในรูปแบบแผงวงจรวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากเต้นช้าแสดงถึงอาการง่วง และจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนมายังผู้ขับขี่ผ่านพวงมาลัยรถยนต์ให้มีสติก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ เป็นผลงานของทีมซึ่งประกอบด้วย ฉัตรดนัย หัชลีฬหา, นพรัตน์ หมู่สุข และสิรวิชญ์ ขวัญเนตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมไฟฟ้า ม.มหิดล
ผลงาน การสังเคราะห์ภาพใบหน้าผู้สูยหายจากภาพวัยเด็กโดยการใช้โครงข่ายประสาทเทียมก่อกำเนิดแบบคู่ปรปักษ์ (Face Synthesis from Childhood Image using Generative Adversarial Network) คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมดิจิทัล ปัญหาคนหายยังมีในสังคมเสมอ นวัตกรรมนี้มาในรูปแบบแอพลิเคชั่นที่สามารถช่วยวิเคราะห์ใบหน้าเด็กที่สูญหาย ซึ่งบางรายหายจากบ้านไปตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อโตขึ้นใบหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยประมวลผลใบหน้าในอายุปัจจุบันจากภาพวัยเด็ก ผลงานของทีมไซเบอร์ประกอบด้วย กลวัชร คธาเพ็ชร,คมสัน ตันติกานต์กุล, ติณห์ ไชยเสนา และปณต เล็กเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.มหิดล
ผลงาน ไอศครีมจากพืชแบบละลายช้าเสริมโอการาจากกระบวนการผลิตนมถั่วเหลือง (Melt-Resistant Ice Cream Fortified with Okara from Soybean Milk Processing) คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม เพราะไอศกรีมเป็นเมนูโปรดของคนทุกวัย ทีมวิจัยได้แรงบันดาลใจจากการรับประทานไอศครีมแล้วรู้สึกว่าละลายเยิ้มเร็วเกินไป จึงคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้ไอศกรีมละลายช้า โดยการนำกากถั่วเหลืองหรือโอการามาผสมใส่ลงในไอศครีม ช่างโดนใจผู้บริโภค สร้างสรรค์โดยทีมซึ่งประกอบด้วย ชัญญกัญญ์ สกุลบริสุทธิ์สุข, ธัญวี สุภาพาส, เพชรไพลิน พวงประดับ และ ไอซ่า เฟลซ่า ซาบีน่า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมอุตสาหการ ม.มหิดล
ผลงาน การจัดเรียงสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จากกรณีศึกษาบริษัทในอุตสาหกรรมเรือคายัค ประเทศไทย (Container Loading Optimization Using a Mathematical Model : A Case Study of Kayak Manufacturer in Thailand) คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภทคลัสเตอร์วิศวกรรมโลจิสติกส์และขนส่งทางราง นับวันระบบขนส่งทางรางจะทวีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย นวัตกรรมนี้จะช่วยให้การจัดเรียงสินค้าใส่ตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นเรื่องง่าย ประหยัดเวลาและพลังงาน มีประสิทธิภาพ สุดล้ำด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คิดค้นโดยทีม 4 คน ประกอบด้วย กนกนันท์ สุวรรณรัตน์, คุณัชญ์ ปึงเศรษฐกูล, ชนากานต์ ตันกิจเจริญ และญาณิศา พิมพ์สอ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสต์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ หลักสูตรนานาชาติ ม.มหิดล
No comments:
Post a Comment