สถานการณ์ของโรคเรื้อน โดย นพ.กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคเรื้อน สถาบันราชประชาสมาสัย - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, February 15, 2019

สถานการณ์ของโรคเรื้อน โดย นพ.กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคเรื้อน สถาบันราชประชาสมาสัย


ในทุกปี จะมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องโรคเรื้อน โดยถือวันโรคเรื้อนโลก คือวันที่ 27 มกราคม ของทุกปี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องของโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง ทำให้โรคเรื้อนไม่เป็นปัญหาสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย จากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2557-2561) จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรไทยมีแนวโน้มลดลง คือ 208, 187, 163, 164 และ 124 ราย ทั้งนี้ในปี 2561 ที่ผ่านมา จังหวัดที่พบจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สูงสุด5 ลำดับแรก คือ บุรีรัมย์ 11 ราย ขอนแก่น10 ราย นราธิวาส 8 ราย กรุงเทพมหานคร 7 ราย และปัตตานี 5 ราย โดยผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ยังคงพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


สำหรับจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรต่างด้าวที่ตรวจพบในประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557–2561) มีตามลำดับดังนี้คือ 47 (ร้อยละ 22.6), 44 (ร้อยละ 23.5), 40 (ร้อยละ 24.5), 28 (ร้อย 17.1) และ32 (ร้อยละ 25.8) ราย โดยพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่สัญชาติเมียนมาร์มากที่สุด คือ 175 ราย รองลงมาตามลำดับคือ ลาว 5 ราย กัมพูชา 4 ราย จีนและฟิลิปปินส์ สัญชาติละ 2 ราย เนปาล อินเดีย และอินโดนีเซีย สัญชาติละ1 ราย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2560 ในบรรดาประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทย ประเทศที่มีการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่มากที่สุด คือ ประเทศเมียนมาร์ 2,279 ราย ซึ่งเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาโรคเรื้อน ทั้งนี้ประเทศไทยค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนในประชากรต่างด้าวในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.4 (เชียงใหม่ 12 ราย ตาก 8 ราย เชียงราย 4 ราย แม่ฮ่องสอน 2 ราย และลำพูน 1 ราย ), ภาคกลาง 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.4 (นนทบุรี ราชบุรี และนครปฐม จังหวัดละ 1 ราย), ภาคใต้ 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.2 (สุราษฎร์ธานี และยะลา จังหวัดละ 1 ราย)

โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อไมโคแบคทีเรี่ยม เลปแปร (Mycobacterium leprae) สามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อได้ยาก ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อนคือผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเชื้อมาก ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดโรคเรื้อนจะเป็นคนที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนผิดปกติเท่านั้น ข้อมูลทางสถิติพบว่าผู้รับเชื้อโรคเรื้อน 100 คน จะมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนได้เพียง 3 คน


อาการของโรคเรื้อน ได้แก่ ผื่นผิวหนัง เป็นวงด่างสีจางหรือแดงกว่าผิวหนังปกติ บริเวณรอยโรคแห้ง เหงื่อไม่ออก อาจพบขนร่วง ที่สำคัญคือรอยโรคมีอาการชา ไม่คัน หรือเป็นผื่นนูนแดง ตุ่มแดง ไม่คัน อาการที่พบจะเป็นเรื้อรังนานมากกว่า 3 เดือน ใช้ยากินยาทาทั่วไป (ที่ไม่ใช่ยารักษาโรค) แล้วไม่ทุเลาเนื่องจากอาการเริ่มแรกของโรคนั้น ไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ คิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง จึงไม่รีบเข้ารับการรักษา ทำให้โรคลุกลามเป็นมากขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลให้เกิดความพิการได้ในที่สุด ดังนั้นประชาชนทั่วไปควรหมั่นตรวจร่างกายของตนเองและบุคคลใกล้ชิด หากมีอาการดังที่กล่าวมาควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

โรคเรื้อนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนความพิการที่เกิดขึ้นแล้วหรือความเสี่ยงต่อความพิการในอนาคตนั้น ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็น รวมทั้งปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดก็สามารถหยุดยั้งความพิการไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ โดยผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้

1.รับการรักษาตามที่แพทย์นัด และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่มีเชื้อน้อยใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 6 เดือน ผู้ป่วยเชื้อมากใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 2 ปี สิ่งสำคัญคือ ครอบครัวหรือคนดูแลต้องให้กำลังใจผู้ป่วยให้รับการรักษาและกินยาต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

2.หากมีความเสี่ยงหรือมีความพิการแล้วให้ดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์

3.รักษาความสะอาดของร่างกาย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และลดความรังเกียจจากคนรอบข้าง เนื่องจากประชาชนบางส่วนเชื่อว่าคนเป็นโรคเรื้อน มักเป็นคนที่ขาดสุขอนามัยที่ดี

4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย

5.ทำจิตใจให้ผ่องใสไม่เครียด ไม่วิตกกังวล และปฏิบัติกิจวัตรตามปกติ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อน เมื่อได้รับการรักษาแล้วจะหายขาดจากโรค และไม่แพร่เชื้อ เพราะยาไรแฟมพิซีน (Rifampicin) ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคเรื้อนในสูตรยาผสมระยะสั้น (Multidrug therapy : MDT) มีประสิทธิภาพสูงในการทำลายเชื้อโรคเรื้อนได้อย่างรวดเร็ว ผลการศึกษาพบว่า การให้ยาไรแฟมพิซีน (Rifampicin) ขนาด 600 มก. เพียงครั้งแรก สามารถฆ่าเชื้อโรคเรื้อนได้ถึง 99.9 % ภายใน 3-7 วัน จึงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก แต่ในบางคนที่มีความพิการเกิดขึ้นก่อนมารับการรักษา แม้รักษาหายจากโรค กล่าวคือปราศจากเชื้อแล้ว แต่อาจหลงเหลือความพิการได้ อย่างไรก็ตามผู้พิการเหล่านี้จะไม่แพร่เชื้อ สามารถอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว สังคม พูดคุย และรับประทานอาหารร่วมกันได้ อีกทั้งสามารถประกอบอาชีพได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages