“บิ๊กป้อม” ตั้งเป้าแล้งนี้ต้องรอด จี้ทุกหน่วยงานป้องกันน้ำเค็มรุกท่าจีน-เจ้าพระยา - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Friday, February 11, 2022

“บิ๊กป้อม” ตั้งเป้าแล้งนี้ต้องรอด จี้ทุกหน่วยงานป้องกันน้ำเค็มรุกท่าจีน-เจ้าพระยา



“บิ๊กป้อม”จี้แผนป้องกันน้ำเค็มรุกแล้งนี้ต้องรอด ระดมพลทุกหน่วยงานงัดมาตรการลดผลกระทบคุณภาพน้ำประปา สวนผลไม้ และไม้ดอกเกษตรกร พร้อมย้ำคณะอนุฯน้ำภาคกลางร่วมติดตามแผนบริหารจัดการลำเลียงน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองให้ชัดเจน และการป้องกันน้ำเค็มรุกในระยะยาว




วันนี้ (9 กพ.65) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์แล้งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคุณาพน้ำในหลายพื้นที่ หลังจาก ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาที่มีการใช้น้ำมากกว่าแผนแล้วกว่า 315 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มระดับน้ำทะเลจะขึ้นสูง จึงได้มอบหมายให้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาค ในพื้นที่ภาคกลาง ลงพื้นที่ซักซ้อมแผนบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานหลัก ตาม 9 มาตรการรับมือภัยแล้งปีนี้ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( สทนช.) การประปานครหลวง ( กปน. ) กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ) และกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนปฏิบัติการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อส่งให้กับการประปา การเกษตร และผลักดันน้ำเค็มที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาให้เกิดความชัดเจน รวมถึงนำข้อมูลมากำหนดมาตรการในการป้องกัน เพื่อรักษาคุณาพน้ำประปาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ สวนผลไม้ และไม้ดอก ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ณ บริเวณสถานีสูบน้ำบางเลน จ.นครปฐม และเขตหนองจอก กรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง




ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนปฏิบัติการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อส่งให้กับการประปา การเกษตร และผลักดันน้ำเค็มที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นในแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองท่าสาร-บางปลา และคลองพระยาบรรลือ เนื่องจากระดับน้ำทะเลคาดว่าจะขึ้นสูงในช่วงวันที่ 16-19 ก.พ. 2, 17, 30 มี.ค. 19-20 เม.ย. ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่าจะมีการใช้น้ำภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน นี้ ขณะเดียวกัน จะไม่มีน้ำที่ค้างทุ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำระบายมาช่วยผลักดันน้ำเค็ม จึงจำเป็นต้องประสานการทำงานร่วมกับ กฟผ. ในการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองลงสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. เป็นต้นไป ซึ่ง กฟผ. และ ชป. ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลองแต่อย่างใด ส่วนการประปานครหลวงยืนยันจะปรับแผนการสูบน้ำทั้งที่สถานีบางเลน จ.นครปฐม และที่ สถานีสำแล จ.ปทุมธานี เพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานตลอดฤดูแล้งนี้ รวมถึงกรมชลประทานจะประสานร่วมกับสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทยและกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรักษาคุณภาพน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตอย่างต่อเนื่องด้วย





อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงของน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธาน กนช. ได้เน้นย้ำให้การประปานครหลวง และกรมชลประทาน เร่งหาข้อสรุปในการบริหารจัดการลำเลียงน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองให้ชัดเจน รวมถึงการศึกษาการป้องกันน้ำเค็มรุก โดยให้เสนอแผนดังกล่าวต่อ คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยเร็ว

 


จากนั้นในช่วงบ่ายคณะได้ลงพื้นที่ติดตามแผนการดำเนินงานการพัฒนาและฟื้นฟูคลอง ในพื้นที่เขตหนองจอก กทม. เชื่อมต่อกับโครงข่ายน้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณตามที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2563 ซึ่ง กนช. ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนเพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ให้สามารถได้เก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และยังใช้เป็นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลัก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ




“การพัฒนาและฟื้นฟูคลองเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักที่ปรับปรุง ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน ตามแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่ายคลองชลประทานตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ 9 แผนหลักเจ้าพระยา ที่เป็นโครงการสำคัญซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก กนช. แล้ว ไม่เพียงช่วยเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเท่านั้น แต่จะใช้เป็นโครงข่ายการระบายน้ำทั้งฝนที่ตกในพื้นที่ และน้ำเหนือหลากด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งบูรณาการการพัฒนาและฟื้นฟูคลองโดยท้องถิ่นโดยเฉพาะ กทม. ที่ต้องดำเนินการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบจนไหลออกสู่อ่าวไทยอีกด้วย”ดร.สมเกียรติ กล่าว.

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages