ค่าโดยสารนี้มีให้บริการในบางเที่ยวบินระยะไกล ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ามุ่งพัฒนาการเดินทางที่ยั่งยืนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
‘Green Fares’ กำลังเป็นที่ต้องการ โดยมีผู้โดยสารใช้บริการแล้วกว่า 500,000 คน
กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าได้ขยายบริการค่าโดยสาร ‘Green Fares’ สำหรับเที่ยวบินระยะไกล เพื่อการเดินทางแบบยั่งยืนมาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในระยะแรกค่าโดยสารนี้จะถูกทดลองใช้ใน 12 เส้นทางบิน รวมไปถึงเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ – เวียนนา เมืองหลวงประเทศออสเตรีย ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน เส้นทางการบินที่ถูกเลือกอยู่ในเครือข่ายที่เชื่อมโยงฐานการบินของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ากับจุดหมายปลายทางทั่วโลก นอกจากนี้ ลุฟท์ฮันซ่ากรุ๊ปยังให้มีค่าโดยสาร Green Fares สำหรับเส้นทางการบินที่มีการต่อเครื่อง (connecting flights) อีกด้วย ตัวเลือกเส้นทางที่หลากหลายนี้ทำให้มีความเหมาะสมกับลูกค้าจากทุกกลุ่ม เส้นทางที่ให้บริการค่าโดยสาร Green Fares จากฐานการบินของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ยกตัวอย่างเช่น แฟรงก์เฟิร์ต-บังคาลอร์ บรัสเซลส์-กินชาซา และ ซูริค-ลอสแอนเจลิส และการจองเที่ยวบินผ่านสายการบินในเครือลุฟท์ฮันซ่ากรุ๊ป เช่นลอนดอนไปฮ่องกง หรือปารีสไปกรุงเทพฯ ที่ต้องบินผ่านฐานการบินของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าจะเห็นตัวเลือกค่าโดยสาร Green Fares แบบอัตโนมัติสะดวก จองง่าย พร้อมข้อเสนอพิเศษอีกมากมาย เพื่อการบินที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
คริสติน่า ฟอร์สเตอร์ หนึ่งในคณะกรรมการของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ดูแลด้านแบรนด์และความยั่งยืน กล่าวว่า “ผู้คนต่างต้องการอิสระในการบินและการเดินทาง พวกเขาต้องการสำรวจโลก เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนและครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเดินทางเพื่อทำธุรกิจ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับค่าโดยสาร Green Fares แสดงให้เห็นถึงการที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการเดินทางอย่างยั่งยืน และเราพร้อมตอบโจทย์ทางด้านนี้ด้วยบริการที่เหมาะสม การทดลองการใช้ Green Fares สำหรับเที่ยวบินระยะไกลจะช่วยให้เราสามารถประเมินข้อมูลเพื่อพัฒนาการเดินทางอย่างยั่งยืนของเราต่อไป”
แฮรรี่ โฮมัยสเตอร์ หนึ่งในคณะกรรมการของกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่า ดูแลด้านเครือข่ายและตลาดทั่วโลก กล่าวว่า “กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ามีความมุ่งมั่นที่จะขยายบริการเพื่อการบินที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ เราเป็นผู้นำในการให้บริการที่สะดวก จองง่าย พร้อมข้อเสนอพิเศษอีกมากมายแก่ลูกค้าทั่วโลก ผมรู้สึกยินดีที่เรามีค่าโดยสาร Green Fares ให้บริการในเที่ยวบินระยะไกลบางเส้นทางที่อยู่ในเครือข่ายสายการบินแล้ว แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ฐานการบินที่มีหลายแห่งและหลากหลายแบรนด์ของเรา”
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าได้เปิดตัว Green Fares สำหรับเส้นทางการบินภายในยุโรปและแอฟริกาเหนืออย่างประสบความสำเร็จ โดยมีผู้โดยสารให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เริ่มเปิดตัว Green Fares ได้มีจำนวนผู้โดยสารเลือกจองแล้วกว่า 500,000 คน
การพัฒนาต่อไปในด้านการทดแทน CO2
ค่าโดยสารนี้คำนึงถึงการทดแทนการปล่อย CO2 ในแต่ละเที่ยวบินที่ผู้โดยสารมารถทำได้ด้วยการคลิกเพียงครั้งเดียว โดยการเลือกเที่ยวบินที่ใช้เชื้อเพลิงแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และการมีส่วนร่วมในโครงการด้านสภาพอากาศ การใช้เชื้อเพลิง SAF ช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ถึง 10% โดยอีก 90% จะถูกชดเชยผ่านการเข้าร่วมโครงการรักษาสภาพอากาศต่าง ๆ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าคำนึงถึงปริมาณเชื้อเพลิง SAF ที่จำเป็นต้องใช้ในการทดแทนการปล่อย CO2 จะถูกนำเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานของสนามบินภายใน 6 เดือนหลังจากการซื้อ เนื่องจากว่าเชื้อเพลิง SAF ประเภท “drop-in” นี้จะต้องมีการผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อนที่จะถูกขนส่งไปยังสนามบิน ไม่สามารถเติมเชื้อเพลิง SAF เพียงอย่างเดียวในแต่ละเที่ยวบินได้ นอกจากนี้ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ายังมีการพัฒนาโครงการชดเชยการปล่อยก๊าซ CO2 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้มีอยู่ 15 โครงการแล้ว รวมถึงล่าสุดได้มีโครงการระยะยาวด้านเทคโนโลยีที่ช่วยในการเกาะตัวของ CO2 อีกด้วย กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการชดเชยการปล่อยก๊าซ CO2 ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยมี myclimate, Climate Austria, SQUAKE และ ClimatePartner เป็นผู้ให้บริการ ทุกโครงการด้านการรักษาสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศภายใต้กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าล้วนได้รับการรับรองตามมาตรฐานสูงสุด
12 เส้นทางการบินที่จะเปิดทดลองใช้
อัตราค่าโดยสาร Green Fares สำหรับเที่ยวบินระยะไกล จะเริ่มเปิดให้บริการในเส้นทางดังต่อไปนี้ ตั้งแต่สิ้นเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป สายการบินในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่าที่เข้าร่วม ได้แก่ Lufthansa, Austrian Airlines, Brussels Airlines และ SWISS ซึ่งให้บริการเส้นทางการบินที่มีการต่อเครื่องหากอยู่ในเครือข่ายเส้นทาง ผ่านเว็บไซต์สำหรับทำการจอง
- กรุงเทพฯ – เวียนนา (BKK – VIE)
- บรัสเซลส์ – กินชาซา (BRU – FIH)
- แฟรงก์เฟิร์ต – บังคาลอร์ (FRA – BLR)
- แฟรงก์เฟิร์ต – ไมอามี (FRA – MIA)
- ฮ่องกง – ลอนดอน (HKG – LHR/LCY)
- ลอนดอน – ฮ่องกง (LHR/LCY – HKG)
- มิวนิก- โซล (MUC – ICN)
- ไนโรบี – แฟรงก์เฟิร์ต (NBO – FRA)
- ปารีส – กรุงเทพฯ (CDG/ORY – BKK)
- เซาเปาโล- ซูริค (GRU – ZRH)
- สิงคโปร์ – ลอนดอน (SIN – LHR/LCY)
- ซูริค-ลอสแอนเจลิส (ZRH – LAX)
กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าได้ตั้งเป้าหมายด้านการปกป้องสภาพอากาศและต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 โดยกลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ามีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2562 ผ่านการลดการปล่อยก๊าซและการชดเชยในรูปแบบอื่น ๆ เป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2573 ได้รับการตรวจสอบโดย Science Based Targets initiative (SBTi) ในเดือนสิงหาคม 2565 กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าเป็นกลุ่มสายการบินแรกในยุโรปที่มีเป้าหมายโดยอ้างอิงจากหลักวิทยาศาสตร์ ตามข้อตกลงปารีสปี 2558 (2015 Paris Climate Agreement) เพื่อการปกป้องสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่าได้เร่งปรับปรุงฝูงบินให้ทันสมัย ใช้เชื้อเพลิง SAF เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการด้านการบินอย่างต่อเนื่อง และนำเสนอตัวเลือกการเดินทางอย่างยั่งยืนให้แก่นักนักท่องเที่ยวและลูกค้าองค์กรเพื่อทำให้การเดินทางหรือการขนส่งสินค้ามีความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มสายการบินลุฟท์ฮันซ่ายังให้การสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศโลกมาหลายปีแล้ว อีกทั้งยังได้รับผลการประเมินที่ดีโดยองค์กรจัดอันดับอิสระในด้านความยั่งยืนและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
No comments:
Post a Comment