“เอกชน” ชูระบบสหกรณ์ดันตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรุ่ง - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Sunday, November 4, 2018

“เอกชน” ชูระบบสหกรณ์ดันตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรุ่ง

“เอกชน” หนุนกรมส่งเสริมสหกรณ์โต้โผใหญ่ดันตลาดสินค้าทะเล-โคเนื้อรูปแบบประชารัฐภายใต้แบรนด์ "Fish Coop และ E-coop Beef" ชี้เป็นการผนึกความร่วมมือเชื่อเครือข่ายข้อมูลการผลิต–การตลาดในมิติใหม่ ช่วยเสริมแกร่งตลาดส่งออกสินค้าเกษตรไทยฉลุยในตลาดโลก

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อสนองนโยบายการผลิตนำการตลาด เมื่อเร็วๆนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ผนึกความร่วมมือในการทำตลาดสินค้าอาหารทะเลและโคเนื้อในรูปแบบประชารัฐร่วมกับภาคเอกชน ชุมนุมสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำกัดและชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทยจำกัดในรูปแบบการทำตลาดภายใต้กลไกลประชารัฐ โดยมุ่งผลักดันส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศภายใต้แบรนด์ "Fish Coopและ E-coop Beef" โดยมีสินค้าเป้าหมายได้แก่ สินค้าประมง เช่น ปลานิล ปลากระพง กุ้งก้ามกราม เป็นสินค้าที่มีการส่งออกที่สำคัญมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสหกรณ์ประมงที่ดำเนินธุรกิจ 69 แห่งสมาชิก 17,989 ราย ส่วนสินค้าปศุสัตว์ คือ โคเนื้อซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศ แต่ละปีมีการส่งออกโคเนื้อประมาณ 150,000 ตัว มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ภายใต้ความความร่วมมือ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะให้การสนับสนุนและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนกระบวนการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศให้กับสหกรณ์ พร้อมทั้งแสงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเข้ามาช่วยผลักดันและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าประมงและปศุสัตว์ให้กับสหกรณ์ต่างๆ ส่วนชุมนุมสหกรณ์ประมงแห่งประเทศไทย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำกัด มีหน้าที่ให้การสนับสนุนและบริหารจัดการผลิตและการแปรรูปของสมาชิกสหกรณ์ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ด้านนายวณิชย์ โสวนะปรีชา เจ้าของเกษตรสมบูรณ์ฟาร์ม กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรสมบูรณ์ฟาร์มเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกุ้งก้ามกราม ปลากะพง ปลานิลโดยมีสมาชิกกว่า 100 ราย ผลผลิตทั้งหมดจำหน่ายตลาดในประเทศประมาณ 400-500 ตัน/ปี โดยมีตลาดหลักคือห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีและโลตัส ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นเคยส่งประเทศเทศเกาหลีอยู่พักหนึ่งแล้วมีปัญหาเลยหยุดชะงักไป

ดังนั้น จึงมีความคาดหวังว่าการบันทึกข้อตกลงร่วมมือการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าประมงและปศุสัตว์สหกรณ์ว่าด้วยกลไกประชารัฐในครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้ามีช่วยในเรื่องขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรในยังตลาดต่างประเทศ และช่วยเจรจาแก้ไขข้อจำกัดต่างๆที่ภาคเอกชนเคยมีให้มีความสะดวกและคล่องตัวในการส่งออกได้มากขึ้น


“ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรไทยมักประสบปัญหามาโดยตลอด ภาคเอกชนต้องช่วยตัวเองในการทำตลาดหรืออาศัยพ่อค้าคนกลางในการระบายสินค้าออกสู่ตลาด ทำให้ได้ราคาต่ำการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาช่วยส่งเสริมด้านการตลาดจะทำให้ผู้ประกอบการมีตลาดที่แข็งแรงและราคามีเสถียรภาพในระยาวขึ้นอย่างแน่นอน” นายวณิชย์ กล่าว

ด้านนายประโยชน์ โสรัจจกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น แอนด์ เจ อควา โปรดักส์ จำกัด และประธานกลุ่มเครือข่ายปลากะพงยักษ์แปลงใหญ่ ต.บางเกลือ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การหันมาร่วมมือภายใต้กลไกประชารัฐระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการสินค้าประมงในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ให้แต่ละฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของฟาร์ม หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านการผลิต การตลาด การตลาดร่วมกันเพื่อผนึกความร่วมมือด้านประชารัฐให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีภาครัฐเข้ามาเสริมบทบาทอาทิองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.)และกรมส่งเสริมสหกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และภาครัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มแปลงใหญ่มีความเข้มแข็งสามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จ

ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงยักษ์แหล่งสำคัญของประเทศ โดยตนและสมาชิกกว่า 32 รายได้รวมผลิตภายใต้กลุ่มเครือข่ายปลากะพงยักษ์แปลงใหญ่รวมพื้นที่ประมาณ 555 ไร่ ได้ทำการเลี้ยงปลากะพงแล้วนำมาไปแปรรูปครบวงจรจำหน่ายในตลาดทั่วประเทศได้ โดยมีตลาดหลักๆคือ ร้านอาหารในจังหวัดเกือบทั้งหมด ห้างฟู๊ดแลนด์ บาร์บีคิว พลาซ่าและในอนาคตกำลังจำหน่ายให้กับซิซซ์เล่อร์ โดยปัจจุบันผลผลิตของสมาชิกในกลุ่มส่งปลาเข้าห้องเย็นสูงถึง 7,000 ตัน/ปี ซึ่งการเข้าสู่กลไกลประชารัฐในครั้งนี้ทางตนคาดว่าจะช่วยให้แนวโน้มการขยายตลาดให้เติบโตและให้กว้างขวางได้อีก

ด้านนายปิติพงษ์ โรจนสุมาพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิติสากล การประมง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทปิติฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับแพปลาและเป็ฯผู้นำตลาดในการจำหน่ายสินค้าปลาน้ำจืด และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทุกชนิด ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์แช่แข็ง เช่น ปลาตัวแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง เนื้อกุ้งแช่แข็ง กุ้งเกล็ดขนมปังแช่แข็ง ลูกชิ้นกุ้งเกล็ดขนมปังแช่แข็ง ฯลฯ และผลิตภัณฑ์อาหารสดแปรรูป เช่น ลูกชิ้นกุ้ง ปลายอ ทอดมัน ฯลฯ ซึ่งมีทั้งการขายภายในประเทศ ส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งยังรับจ้างผลิตสินค้าแปรรูปให้กับลูกค้าที่ต้องการด้วย นอกจากนี้แล้ว บริษัทยังได้มีการดำเนินการขายผลิตภัณฑ์แปรรูปของบริษัทฯ ในลักษณะของการขายสินค้าปลีกแบบรถเข็นแฟรนไชน์ ภายใต้ชื่อ Bam’s Fish n’ chips ซึ่งเป็นการกระจายการขายสู่มือผู้บริโภคโดยตรงโดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ สุขอนามัย และราคาให้เป็นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับสำหรับทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

โดยปัจจุบันมีกำลังลิตออกสู่ตลาดประมาณ 100 ตัน/วันโดยต่างประเทศมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศเกาหลีส่วนในประเทศจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นน้ำทุกแห่งภายใต้แบรนด์ “PT FOOD” การเข้ามาร่วมโครงการประชารัฐกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศให้มีความกว้างขวางขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาช่วยคือการเจรจาประสานงานในเรื่องระเบียบการส่งออกซึ่งยังมีปัญหายุ่งยากอยู่มาก ส่งผลให้ไม่เอื้อต่อการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาซึ่งข้อจำกัดตรงนี้อยากให้ทางกรมเข้ามาช่วยเหลือ


อย่างไรก็ตาม อนาคตสินค้าเกษตรไทยจะไปรอดหรือไม่รอด คงอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ เกษตรกรเองก็ต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองด้านการผลิตให้มีมาตรฐาน สะอาด ถูกสุขลักษณะ และถูกต้องตามระบบ GMP และต้องผลิตได้ในปริมาณที่สม่ำเสมอคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับที่ตลาดต้องการควบคู่กันด้วยถึงจะทำให้สินค้าเกษตรไทยมีอนาคตและมีตลาดที่ยั่งยืน

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages