หนึ่งในสาเหตุของ “การทิ้งรังของผึ้ง” Colony Collapse Disorder - CCD) เป็นการอพยพของผึ้งไปจากรังอย่างฉับพลัน ถือเป็นความเสียหายระดับ “หายนะ” ของคนเลี้ยงผึ้งนั้น เกิดจากการรุกรานของศัตรูทางธรรมชาติ ซึ่งในประเทศไทยมี “ตัวต่อ” “มดแดง” “นกกินผึ้ง” และ “ยาฆ่าแมลง” เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ที่สำคัญคือ หลายครั้งที่กว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจะรู้ว่ารังผึ้งในฟาร์มของตนเองโดนบุกโดยกองทัพต่อหรือมดแดง หรือโดนสารพิษจากสารเคมีอันตราย ก็สายเกินไป
รศ.ดร. อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) กล่าวว่า ขณะผึ้งออกหากินจะมีโอกาสถูกมดแดง มดดำ รวมถึงตัวต่อ จับกินเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่หากสัตว์เหล่านี้พบรังผึ้ง มันจะยกขบวนกันมาเป็นกองทัพเพื่อเอาตัวผึ้ง น้ำหวานและของต่างๆ ในรังไปเป็นอาหาร ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์บุกรุกรังผึ้งแบบนี้ จะทำให้ผึ้งเกิดอาการเครียด และเลือกที่จะทิ้งรังในที่สุด หรือแม้กระทั่งมีเหตุการณ์โดนสารเคมี ก็อาจจะทำให้ประชากรผึ้งล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้รังอ่อนแอ
จากโจทย์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนา “โมดูลแปลภาษาผึ้ง” ที่สามารถแจ้งให้เจ้าของฟาร์มหรือผู้ดูแลระบบที่อยู่ ให้ทราบได้ทันทีที่รังผึ้งโดนจู่โจมจากศัตรูหรือรังอยู่ในสภาวะเครียด นับเป็น “โมเดลแปลภาษาผึ้งโพรง” ตัวแรกของโลก
“แมลงกลุ่มผึ้งจะมีการสื่อสารกันด้วยการเต้นรำ เสียง และกลิ่นหรือฟีโรโมน เช่น “การเดินวงกลมคล้ายเลข 8” คือ “ภาษาผึ้ง” ที่ใช้เพื่อบอกระยะและทิศทางของแหล่งอาหารที่มันพบให้กับเพื่อนตัวอื่น ๆ ในรังได้รู้ ซึ่งตรงนี้จะมีความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ เช่น การเดินส่ายไปมาขึ้นไปข้างบนเป็นเวลาครึ่งวินาทีของผึ้งโพรง จะเท่ากับบอกว่ามีอาหาร (ดอกไม้) อยู่ห่างจากรังประมาณ 500 เมตร นอกจากภาษาผึ้งที่ดูจากการเดินแล้ว ยังมี “ภาษาผึ้งชนิดเสียง” ที่เกิดจากการขยับขาไปเสียดสีกับปีก ซึ่งเราพบว่าเสียงเหล่านี้มีจะรูปแบบและระดับความถี่ของเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ และเป็นอีกรูปแบบของภาษาผึ้งที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสามารถถอดรหัสออกมาเป็น “ระดับความเครียดของผึ้ง” ที่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรังและนำไปสู่การทิ้งรังของผึ้งในที่สุด ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การสร้าง “Smart Hive” หรือนวัตกรรมเพื่อการเลี้ยงผึ้งแบบอัจฉริยะ ที่จะทำให้การเลี้ยงผึ้ง ง่ายและสะดวกขึ้น เมื่อเกิดปัญหาในรัง ระบบนี้จะแจ้งเตือนทันที ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้รวดเร็วมากขึ้น”
รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวว่า Smart Hive เป็นการต่อยอดจาก “Bee Box ซึ่งเป็นผลงานของทีมนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ที่มีตนเองเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อหลายปีก่อน และผลงานชิ้นนี้สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียนเมื่อหลายปีก่อน
“จากสิ่งที่ทีมนักศึกษาเขาทำได้ในตอนนั้น คือการวิเคราะห์เสียงที่เกิดขึ้นในรังของผึ้งโพรงและพบเอกลักษณ์ของเสียงเกิดจากการขยับขาและปีกขณะรังถูกโจมตี เช่น เสียงขู่ มีลักษณะเสียงเหมือนคลื่นทะเล และเสียงที่ใช้เตือนสมาชิกในรังถึงการรบกวนของศัตรูธรรมชาติ จากผลงานดังกล่าว ทางเราได้มีการวิจัยต่อ โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์อัลกอริทึม (Algorithm) ของฐานข้อมูลเสียงในรังผึ้ง ทำให้ตอนนี้ระบบของเราสามารถแปลภาษาผึ้งที่เกิดจากการเสียดสีของขากับปีกของผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์ ออกมาเป็นระดับความเครียดโดยรวมของผึ้งในรัง ณ เวลานั้นแบบ real time โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ‘ระดับสีเขียว’ ที่แสดงว่าเหตุการณ์ในรังยังปกติ ‘ระดับสีเหลือง’ ใช้บอกการบุกรุกโดยศัตรูทางธรรมขาติ ได้แม่นยำถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (เริ่มเครียด) และ ‘ระดับสีแดง’ ที่อาจแปลได้ว่า “ฉันต้องการย้ายรังแล้ว (เครียดมาก) โดยหากเสียงที่วิเคราะห์แล้วเข้าข่าย ระดับสีเหลืองหรือสีแดง จะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลระบบหรือเจ้าของฟาร์มทราบในทันที ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ก่อนที่ผึ้งโพรงจะทิ้งรังไป”
หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจาก ระบบ Smart Hive จะมีการติดตั้งไมโครโฟนเพื่อส่งข้อมูลเสียงให้กับโมดูลแปลภาษาผึ้งแล้ว ไปในกล่องเลี้ยงผึ้งแล้ว ยังเพิ่มการติดตั้งกล้องไว้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดในกล่อง กับติดตามพัฒนาการของรังไปได้พร้อมๆ กัน โดยในส่วนของงานวิจัยที่จะดำเนินการต่อ มีทั้งการวิเคราะห์ถึงระดับเสียงสีเหลืองว่า เกิดจากตัวต่อ หรือมดชนิดไหน รวมถึงทำให้สามารถแปลเสียงในระดับสีเขียว ที่ปัจจุบันสามารถแปลได้บางคำ เช่น “ดีใจจังนางพญามาแล้ว” “อาหารเยอะจังเลย” ให้มีความหมายที่มนุษย์สามารถเข้าใจมากขึ้น หรือชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงผึ้งโพรง รวมถึงผึ้งชนิดอื่นๆ ต่อไป
“การที่ Smart Hive สามารถแก้ปัญหาผึ้งทิ้งรัง ให้กับผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลที่มีประสบการณ์เลี้ยงผึ้งมาไม่นาน จึงน่าจะเหมาะในการทำเป็นธุรกิจเพื่อบริการให้กับฟาร์มเลี้ยงผึ้งขนาดกลางหรือขนาดเล็กอย่างรีสอร์ท หรือคนที่เลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรก โดยในส่วนของเราเองได้มีการนำติดตั้งไว้ที่ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งและชันโรง ที่อำเภอบ้านคา และที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมแบบออนไลน์ให้กับผู้ที่สนใจจะเลี้ยงผึ้งให้มีความเข้าใจในพฤติกรรมและการแสดงออกของผึ้งในรังมากยิ่งขึ้น” รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
หัวหน้าศูนย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจาก ระบบ Smart Hive จะมีการติดตั้งไมโครโฟนเพื่อส่งข้อมูลเสียงให้กับโมดูลแปลภาษาผึ้งแล้ว ไปในกล่องเลี้ยงผึ้งแล้ว ยังเพิ่มการติดตั้งกล้องไว้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่การเฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดในกล่อง กับติดตามพัฒนาการของรังไปได้พร้อมๆ กัน โดยในส่วนของงานวิจัยที่จะดำเนินการต่อ มีทั้งการวิเคราะห์ถึงระดับเสียงสีเหลืองว่า เกิดจากตัวต่อ หรือมดชนิดไหน รวมถึงทำให้สามารถแปลเสียงในระดับสีเขียว ที่ปัจจุบันสามารถแปลได้บางคำ เช่น “ดีใจจังนางพญามาแล้ว” “อาหารเยอะจังเลย” ให้มีความหมายที่มนุษย์สามารถเข้าใจมากขึ้น หรือชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงผึ้งโพรง รวมถึงผึ้งชนิดอื่นๆ ต่อไป
No comments:
Post a Comment