โคบอท กับการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคการผลิต โดย อลี ฮาจ ฟราจ รองประธานอาวุโส ฝ่ายโรงงานดิจิทัล ชไนเดอร์ อิเล็คทริค - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Tuesday, August 29, 2023

โคบอท กับการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคการผลิต โดย อลี ฮาจ ฟราจ รองประธานอาวุโส ฝ่ายโรงงานดิจิทัล ชไนเดอร์ อิเล็คทริค




ไม่ว่าจะเป็นโควิด 19 หรือ สงครามในยูเครน การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง กระทั่งคนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องโลจิสติกส์ ก็ยังรู้ว่าเหล่านี้ คือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาท้าทายเรื่องซัพพลายเชนในปัจจุบัน ที่มาพร้อมผลกระทบ เช่น อัตราเงินเฟ้อ และวิกฤตพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านอื่นที่เกิดขึ้นพอๆ กับที่เกิดกับซัพพลายเชนในวันนี้ก็คือวิถีการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในภาคอุตสาหกรรมล้วนต้องอาศัยคนในการดูแลเครื่องจักรและการบรรจุผลิตภัณฑ์มาเป็นเวลานาน แต่ยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำงานจากระยะไกลที่เพิ่มขึ้น รวมถึง 'การลาออกครั้งใหญ่' ของพนักงานสูงวัยและพนักงานเกษียณอายุ เหล่านี้ เป็นปัจจัยที่สร้างความลำบากให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในการสรรหาคนให้เพียงพอต่อความต้องการ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะมีตำแหน่งงานว่างถึงกว่า 85 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้ทั่วโลกที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงที่ 8.452 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สิงคโปร์และฮ่องกงจะคิดเป็น 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของตัวเลขรวมดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ด้วยต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น กับความคาดหวังของลูกค้าที่สูงขึ้น ทำให้มีความต้องการงานเพิ่มขึ้นไปอีก ความต้องการงานหยิบวาง (pick and place) มีตั้งแต่ซองขนาด 100 กรัมไปจนถึงกล่องขนาด 8 กิโลกรัม และกำหนดเวลาในการจัดส่งที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งจวบจนปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว (motion control) และหุ่นยนต์ (robotic) ก็ยังก้าวหน้าไม่เพียงพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัวให้ทัน

อย่างไรก็ตาม วิทยาการล้ำหน้าด้าน AI และหุ่นยนต์ ทำให้งานหยิบจับวัสดุด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นตัวเลือกที่แท้จริงสำหรับซัพพลายเชนขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตจึงหันไปพึ่งพา 'โคบอท (Cobot)' ในการแก้ปัญหาท้าทายด้านเวิร์กโฟลว์ที่ใหญ่ที่สุด

หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์

บรรดานักเขียนไซไฟ ได้เคยทำนายเกี่ยวกับ 'การมาของหุ่นยนต์' ไว้นานแล้ว โดยมีเรื่องราวมากมายนับไม่ถ้วนที่กล่าวไว้ล่วงหน้าถึงไฮเปอร์แมชชีนที่มีความเป็นอัจริยะ ซึ่งนอกจากจะทำให้มนุษย์ล้าหลังแล้ว มันยังเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้สร้างอีกด้วย โชคดีที่ในความเป็นจริง เรื่องราวยังดำเนินไปในเชิงบวกมากกว่า

โคบอท (Cobot) หรือ 'หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (collaborative robot)' คือ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ล้ำหน้า (next-generation automation robotics systems) ที่ ‘ทำงานร่วมกับมนุษย์’ ‘ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์’ ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก ตั้งโปรแกรมง่าย และมีฟีเจอร์เสริมด้านความปลอดภัยอยู่ในตัว ซึ่งระบบเหล่านี้สามารถยกระดับประสิทธิภาพ ให้ความยืดหยุ่น และมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับพนักงาน ด้วยกระบวนการผลิตที่แม่นยำและสม่ำเสมอ เช่น การหยิบวาง ซึ่งโคบอท สามารถทำงานหนักซ้ำๆ ได้ อีกทั้งทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ จึงช่วยลดการบาดเจ็บและเพิ่มความปลอดภัยโดยรวมให้กับพนักงาน

โคบอท จะทำงานผสานรวมกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งของภาคอุตสาหกรรม (Industrial internet of Things) หรือ IIoT ซึ่งนับเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในอุตสาหกรรม ซึ่ง IIoT ประกอบไปด้วย เซ็นเซอร์ เครื่องมือต่างๆ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายที่สำคัญเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ การผลิต การบริหารจัดการพลังงาน การดูแลสุขภาพ ตลอดจนการบินและอวกาศ โดยให้ศักยภาพการทำงานที่สูงกว่า ทั้งประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และมีความปลอดภัยมากขึ้นในพื้นที่การผลิต ซึ่งนอกจากโคบอทจะช่วยเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังช่วยลดเวลาหยุดทำงานที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงานอันเป็นสาเหตุให้โรงงานมีต้นทุนการผลิตสูงถึง 20% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ โคบอทยังให้ประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อีกด้วย

การใช้โคบอท ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถให้เวลาอิสระแก่พนักงานได้ทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น หรืองานประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้นกับพนักงานและเป็นงานมีคุณค่าต่อบริษัท นำไปสู่ความพึงพอใจในงานมากขึ้น การวิจัยของ Statista คาดการณ์ว่าตลาดโลกด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (compound annual growth rate) หรือ CAGR 26% ภายในปี 2568 โดยโคบอท ช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานในสายอุตสาหกรรมที่จับต้องได้ในประเด็นต่อไปนี้

โคบอท และความท้าทายด้านซัพพลายเชน

ในรายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้นำด้านซัพพลายเชน Gartner พบว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน คือธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้โดยให้คนเป็นศูนย์กลางในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ดังนั้น โคบอท จึงมีบทบาทที่ชัดเจน และเป็นบทบาทเร่งด่วนในการช่วยเติมเต็มช่องว่างด้านแรงงาน ที่เกิดจากวิกฤตของภาคการผลิตในปัจจุบัน โชคดีที่มีเทคโนโลยีพร้อมให้ใช้งานมากขึ้น

FORTNA (ชื่อเดิมคือ MHS Global) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านระบบออโตเมชั่นในการจัดการวัสดุและการวางระบบ ได้นำโซลูชันหุ่นยนต์ตัวใหม่มาใช้ในการปฏิรูปเพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งหุ่นยนต์เดลต้า PacDrive 3 ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในการหยิบและวางได้มากถึง 2,000 ชิ้นต่อชั่วโมง (PPH) ในฉากทัศน์ที่เป็น brownfield และสูงถึง 2,500 PPH ในฉากทัศน์ที่เป็น Greenfield

เคล็ดลับความสำเร็จของโคบอทขั้นสูงหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน อยู่ที่การเขียนโปรแกรมเพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด แทนการตั้งค่าไว้ล่วงหน้าเพื่อให้หยิบวัตถุเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยโคบอทขั้นสูงจะควบคุมซอฟต์แวร์ computer vision และอัลกอริทึม เพื่อทดสอบแต่ละไอเทมพร้อมกำหนดจังหวะในการหยิบจับได้ตามระยะที่ต้องการ จากนั้นส่วนที่เป็นถ้วยดูดแบบสูญญากาศ กริปเปอร์ ซึ่งเป็นตัวจับ และแขนจับก็จะทำการหยิบ พร้อมจัดระเบียบแต่ละไอเท็มให้พร้อมสำหรับกระบวนการสุดท้าย (downstream processing)

ประโยชน์ของการใช้งานมีมากมาย และมักจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ ตัวอย่างเช่น หนึ่งในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ผู้ผลิตกระเบื้องหินมุงหลังคารายหนึ่ง ล่าสุดได้มีการนำระบบหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดเรียงกระเบื้อง ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิต อีกทั้งช่วยให้คนทำงานหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ ได้

สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ การที่สามารถบรรลุผลลัพธ์ทั้งหมดได้เลยในปัจจุบัน กระนั้น นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างเล็กๆ ของประโยชน์ที่มีอยู่อีกมากมาย

การทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์

ด้วยศักยภาพในตัวเอง ทำให้โคบอทสามารถเป็นส่วนเสริมที่สร้างคุณค่าให้กับการดำเนินการในอุตสาหกรรมต่างๆ และยิ่งผสานรวมกับเครือข่ายเทคโนโลยีอัจฉริยะในวงกว้างขึ้น ก็จะช่วยปลดล็อกข้อมูล และให้ข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยปฏิรูปในเรื่องของผลผลิต ให้ความคล่องตัว และสามารถทำกำไรได้มากขึ้น อีกทั้งมอบประสบการณ์ที่ดีแก่พนักงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก

แพลตฟอร์ม IIoT แบบเปิด ที่สามารถปรับขยายการทำงานได้และให้ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล จากหลายไซต์งานรวมถึงแผนกงานต่างๆ จากนั้นก็จะแสดงภาพข้อมูลตามเวลาจริงบนแดชบอร์ด ทั้งข้อมูลการปฏิบัติงานในตำแหน่งงานเฉพาะ รวมถึงฟังก์ชั่นงาน และแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อช่วยให้พนักงานและผู้บริหารสามารถตัดสินใจโดยมีข้อมูลสนับสนุน ซึ่งเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อน เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานและให้ผลกำไรที่ดีขึ้น

อนาคตของการปฏิรูปกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล

ท้ายที่สุดแล้วระบบออโตเมชั่นด้านอุตสาหกรรม สามารถสร้างพลังในการปรับปรุงประสิทธิภาพงานในทุกระดับ และยังช่วยให้พนักงานที่ไซต์งานมั่นใจได้ว่า การมีโคบอทช่วยให้ตัวเองทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้เข้ามาเพื่อทำงานแทนที่ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถผสานรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน และทำงานร่วมกับพนักงานได้อย่างราบรื่น โดยพนักงานให้การยอมรับกับการปรับปรุงประสิทธิภาพได้ในทันที

ผู้ปฏิรูปสู่ดิจิทัลรายแรกๆ กำลังเห็นถึงประโยชน์ที่สามารถวัดผลได้ ตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์ ความมุ่งมั่นระยะยาวของรัฐบาลในการลงทุนกับเทคโนโลยีดิจิทัลรุ่นล่าสุด ทั้งหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิ่ง อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และการประมวลผลแบบคลาวด์ ยังคงเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศใกล้จะบรรลุเป้าหมายการเป็น Smart Nation ปัจจุบันสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระบบอัตโนมัติมากเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งได้แรงหนุนจากวิสัยทัศน์ Economy 2030 ในการเพิ่มมูลค่าการผลิต 50% ภายในปี 2030

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยการผสานรวมระหว่างมนุษย์ โคบอท และซอฟต์แวร์อัจฉริยะ ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการหยุดชะงักของแรงงานและกำลังการผลิตในปัจจุบันแล้ว ยังช่วยปกป้ององค์กรจากความท้าทายในอนาคตอีกด้วย

หุ่นยนต์คืออนาคตที่แท้จริง และเป็นไปในเชิงบวกมากกว่าที่นิยายวิทยาศาสตร์ได้เคยคาดการณ์กันไว้

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages