ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลคัดเลือกจากผลงานของคณาจารย์ นักวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการ และประชาชน
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่มีความวิริยะอุตสาหะ และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนมีผลงานดีเด่นในสาขาต่างๆ เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในทุกปี
สำหรับปีการศึกษา 2565 นี้ มีผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 4 ราย จาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาการแต่งตำรา สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม และสาขาความเป็นครู ดังนี้
- รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอาภัทรสา เล็กสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการแต่งตำรา เรื่อง "เทคนิคการผ่าตัดแก้ไขโรคตาเหล่" จากประสบการณ์ตรงกว่า 25 ปี โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการตรวจวินิจฉัย การวัดมุมเหล่ การกำหนดวิธีผ่าตัด การวางระยะบนกล้ามเนื้อตาที่ต้องการ ผ่าตัด รูปแบบการเย็บกล้ามเนื้อตา เป็นต้น โดยได้สอดแทรกเคล็ดลับพร้อมภาพประกอบ เพื่อให้จักษุแพทย์ได้เรียนรู้และศึกษาเทคนิคต่างๆ ในการผ่าตัดที่ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดการผ่าตัดซ้ำได้ต่อไปในอนาคต
* รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์นวัตกรผู้ประสบความสำเร็จ จากการนำเส้นใยใบสับปะรดที่เหลือทิ้งจากการเกษตร มาทำให้เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ตลอดจนทนอุณหภูมิได้สูงขึ้น สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกักเก็บคาร์บอนได้ ทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติก ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันผลงานดังกล่าวได้พัฒนาสู่สตาร์ตอัพ เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ
- ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สามารถแสดงบทบาทได้อย่างดียิ่ง ทั้งใน "ความเป็นแพทย์" และ "ความเป็นครู" โดยใน "ความเป็นแพทย์" ได้บุกเบิกพัฒนาวิธีการรักษาโรคตับ จนสามารถแยกออกมาจากโรคระบบทางเดินอาหารได้ตั้งแต่ในสมัยที่ความรู้ด้านโรคตับยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนา และยังคงขาดแคลนยารักษา ขณะที่ใน "ความเป็นครู" ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้ลูกศิษย์สามารถนำไปปฏิบัติ ทั้งต่อผู้ป่วย และเพื่อการดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนได้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์เกิดความใฝ่รู้ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
- ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงกาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มและพัฒนาผลงานสิทธิบัตร นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการเรียนสอน "App Logbook" ให้สามารถใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน โดยเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้กับนักศึกษาแพทย์ในการเรียนการสอนรายวิชากุมารเวชศาสตร์ทั้ง 3 ชั้นปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 – ปัจจุบัน นอกจากช่วยให้นักศึกษาได้บันทึกการเรียนรู้ การฝึกปฏิบัติหัตถการ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ครบถ้วน ยังได้ทำให้อาจารย์ และทีมการศึกษา สามารถกำกับดูแล ติดตามการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์ได้แบบ Real-time และประเมินก่อนจบรายวิชาว่าได้รับประสบการณ์การเรียนรู้เพียงพอหรือไม่ ปัจจุบันทีมพัฒนา “App Logbook” ได้ขยายผลพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มเพิ่มประสิทธิผลการเรียนรู้ออกไปได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การได้ร่วมงานวิจัยกับ สหสาขาวิชา จึงได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านโรคไตในเด็ก และโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่
ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกทั้ง 4 ท่าน จะเข้ารับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ปีการศึกษา 2565 จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
No comments:
Post a Comment