วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) เวลา 13.30 น. นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้า – ส่งออก สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) สินค้าที่เป็นภัยต่อสังคม อาทิ อาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และส่วนประกอบของปืน ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าเกษตร ซึ่งส่งผลต่อผู้ประกอบการในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ กรมศุลกากรจึงเพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลกากร โดยในปีงบประมาณ 2567(1 ตุลาคม 2566 – 9 พฤศจิกายน 2566) มีผลงานดังนี้
1. สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
กรมศุลกากร ได้ให้ความสำคัญและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผ่านทุกช่องทางการขนส่งระหว่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยทำการสกัดกั้นการนำเข้าทางบกตามด่านชายแดน ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงเข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าที่มีสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยกรมศุลกากรจับกุมสินค้าที่ไม่มีใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวนมาก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่รถยนต์ เป็นต้น โดยมีการลักลอบนำเข้า 5 ราย จำนวน 20,789 ชิ้น มูลค่า 10.80 ล้านบาท มีการหลีกเลี่ยงนำเข้า 3 ราย จำนวน 11,001 ชิ้น มูลค่า 14.08 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8 ราย จำนวน 31,790 ชิ้น มูลค่า 24.88 ล้านบาท มีผลการจับกุมที่สำคัญ ดังนี้
- วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เข้าตรวจค้นโกดัง ในพื้นที่แขวงลำผักชี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร พบสินค้าประเภทคอมเพรสเซอร์แอร์รถยนต์ น้ำมันคอมเพรสเซอร์แอร์ แผงคอยล์เย็น และอื่น ๆ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท
- วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เข้าตรวจค้นโกดัง ในพื้นที่ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พบสินค้าประเภทเครื่องซักผ้า เตาไฟฟ้า หมวกกันน๊อค และอื่นๆ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร และไม่มีใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 6,800 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2.3 ล้านบาท
ทั้ง 2 กรณี ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242, 244 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR)
กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล รวมถึงสร้างมาตรฐานการปกป้องสังคม เพื่อประโยชน์ทางการค้าของผู้ประกอบการที่สุจริตและประชาชนทั่วไป กรมศุลกากรจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) จำนวน 50,154 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 43.3 ล้านบาท มีผลการจับกุมที่สำคัญ ดังนี้
- เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 เข้าตรวจค้นโกดังแถวพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พบสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ประเภทรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า จำนวน 33 รายการ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประมาณ 15,000,000 บาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 244 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. อาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และส่วนประกอบของปืน
กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน และส่วนประกอบของปืน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ประสานกรมอุตสาหกรรมทหารและผู้เชี่ยวชาญงานอาวุธยุทธภัณฑ์ จากกรมสรรพาวุธ ตรวจสอบสินค้าเร่งด่วนทางอากาศยานที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน พบว่าสินค้าดังกล่าวเป็น ส่วนประกอบของอาวุธและเครื่องอุปกรณ์ของอาวุธที่อาจนําไปใช้ในการรบหรือการสงคราม (อาวุธสงคราม ตระกูล M16) น้ำหนักรวม 41.50 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 200,000 บาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร
พ.ศ. 2560 ประกอบ มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2564
4. บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เพื่อรักษากลไกทางการตลาด และเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยกรมศุลกากรจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้าบุหรี่ จำนวน 174 ราย มูลค่า 6.8 ล้านบาท และจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 32 ราย มูลค่า 4.3 ล้านบาท มีผลการจับกุมที่สำคัญ ดังนี้
- วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ เข้าตรวจสอบพัสดุภัณฑ์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ภายในอำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากสงสัยว่ามีสิ่งของต้องห้ามต้องกำกัดหรือของมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องฝากส่งไว้ ผลการตรวจสอบ พบบุหรี่จำนวน 30 หีบห่อ บุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 12 หีบห่อ มูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านบาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 และมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
5. น้ำตาลทราย
ตามประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ. 2566 เรื่องการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งน้ำตาลทราย ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 กำหนดให้ผู้ส่งของออก น้ำตาลทรายซึ่งมีปริมาณครั้งละตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการแต่งตั้ง กรมศุลกากรจึงให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล มีผลการจับกุมที่สำคัญ ดังนี้
- วันที่ 26 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรท่าลี่ ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสินค้าขาออกบริเวณด่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ได้สังเกตเห็น รถบรรทุกสินค้าที่มีกระบะข้างสูงกว่าปกติ ตรวจสอบพบเป็นน้ำตาลทราย ไม่พบเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 178 กระสอบ (4,450 กิโลกรัม) มูลค่าประมาณ 90,469 บาท การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242, 244 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
- วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรมุกดาหาร ได้ทำการตรวจสอบสินค้าขาออกที่มีการสำแดงไว้ร่วมกับตัวแทนออกของบริษัทแห่งหนึ่ง ผลการจากการตรวจสอบพบน้ำตาลทรายจำนวน 3 รายการที่เกินจากการสำแดงในใบขนสินค้า จำนวน 3,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 57,750 บาท การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามมาตรา 202 และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมผู้กระทำความผิดในการลักลอบส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 2 ราย จำนวน 7,450 กิโลกรัม มูลค่า 148,219 บาท
6. สินค้าเกษตร
กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและจับกุมผู้ลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาในราชอาณาจักร อาทิ หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม เนื้อโค กระบือ และขาไก่ เพื่อเป็นการรักษากลไกทางการตลาด และสนับสนุนเกษตรกรไทยให้สามารถขายผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง มีผลการจับกุมที่สำคัญ ดังนี้
- วันที่ 25 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี สำนักการข่าว กอ.รมน. และฝ่ายปกครอง จังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมกันจับกุมการลักลอบขนสินค้ากระเทียมสดมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร โดยใช้เรือยนต์ขนาดใหญ่ในการขนย้ายจากประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้เส้นทางช่องทางธรรมชาติ (แม่น้ำโขง) มาขนถ่ายขึ้นบริเวณ ตำบลบางทรายใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจค้นพบกระเทียมสดไม่แกะกลีบ จำนวน 325 กระสอบ น้ำหนักกระสอบละ 20 กิโลกรัม น้ำหนักรวม 6,500 กิโลกรัม มูลค่า 222,144 บาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242, 244, 246 และมาตรา 247 ประกอบมาตรา 166 และ 167
แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
- วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเชียงของได้ตรวจสอบสินค้าตู้ตามใบขนสินค้าขาเข้า สำแดงสินค้าเป็นผักสด เนื่องจากสงสัยว่าของที่สำแดงกับสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์อาจไม่ตรงกัน ผลการตรวจสอบ พบเนื้อหมูสดและแปรรูป ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส สุรา บุหรี่ ไพ่ โต๊ะสำหรับการพนันพร้อมอุปกรณ์ และอื่น ๆ มูลค่าประมาณ 1,500,000 บาท การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 243 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 202 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสถิติในปีงบประมาณ 2567 กรมศุลกากรจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบนำเข้า - ส่งออกสินค้าเกษตร จำนวน 5 ราย จำนวน 31,620 กิโลกรัม มูลค่า 406,544 บาท
7. ยาเสพติด
กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามา – ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง
ล่าสุด เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE)ได้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์ ทั้งการนำเข้า – ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยร่วมกันวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ
- วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 พบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศมีความเสี่ยงสูง สำแดงชนิดสินค้า เป็น Notebook 3, Paper 1, Pen จำนวน 1 หีบห่อ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ พบหนังสือมีลักษณะที่ผิดปกติ ตรวจสอบผลปรากฏว่า มียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ในปกหน้าและปกหลังของหนังสือ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 1,250 กรัม รวมมูลค่า 3,750,000 บาท
- วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศมีความเสี่ยงสูง สำแดงชนิดสินค้าเป็น Book จำนวน 1 หีบห่อ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ พบหนังสือมีลักษณะที่ผิดปกติ ตรวจสอบผลปรากฏว่า มียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ในปกหน้าและปกหลังของหนังสือ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 365 กรัม รวมมูลค่า 1,095,000 บาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 244 ประกอบมาตรา 252 มาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ 2567 มีทั้งหมด 18 ราย มูลค่ารวม 66,474,000 บาท ทั้งนี้สำหรับกรณีลักลอบส่งออก จำนวน 15 รายมีมูลค่า 50,424,000 บาท หากส่งออกไปถึงประเทศปลายทางจะมีมูลค่า 151,272,000 บาท
8. สินค้าที่ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร
- วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์
ในพื้นที่หนองแขม กรุงเทพมหานคร พบสินค้าประเภทจักรยานไฟฟ้า มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 442 คัน มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท แบตเตอรี่ จำนวน 103 ชิ้น มูลค่าประมาณ 360,500 บาท และในวันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เข้าตรวจค้นโกดัง ในพื้นที่แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พบสินค้าประเภทเลื่อยโซ่ยนต์ จำนวน 200 เครื่อง มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เบื้องต้นไม่มีเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร มูลค่าประมาณ 400,000 บาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า สรุปยอดรวมที่มีการจับกุมสินค้าที่ลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ในช่วงปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 9 พฤศจิกายน 2566) รวมทั้งสิ้นกว่า 140 ล้านบาท โดยกรมศุลกากรยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป
No comments:
Post a Comment