กรมศุลกากรเผยผลการตรวจพบการกระทำความผิด ประจำเดือนมกราคม 2566 - The Siamese

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

Monday, February 20, 2023

กรมศุลกากรเผยผลการตรวจพบการกระทำความผิด ประจำเดือนมกราคม 2566

 1176208


วันนี้ (วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร มีนโยบายในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน โดยในเดือนมกราคม 2566 มีจำนวน 2,513 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 556.99 ล้านบาท มีผลงาน ที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ผลการจับกุมยาเสพติด ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ด้านกระทรวงการคลังโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง เพิ่มความเข้มงวดและเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรทุกเส้นทาง กรมศุลกากรจึงเพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร และการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาและออกนอกราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ รวมถึงการลักลอบนำยาเสพติดซุกซ่อนมากับสินค้าที่ส่งทางพัสดุไปรษณีย์ มีผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่



1174102

- การลักลอบนำโคคาอีนเข้าประเทศ โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 กรมศุลกากรเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปรามได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสถิติการจับกุมยาเสพติดทางอากาศยานในช่วงที่ผ่านมา ตามโครงการสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) หรือ หน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ ที่เป็นการผนึกกำลังของ กรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย จึงได้เฝ้าระวังผู้โดยสารที่มีสัญชาติเสี่ยงในการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรและตรวจพบบัญชีรายชื่อผู้โดยสารสัญชาติแอฟริกาใต้ เป็นผู้โดยสารสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ เดินทางมาจากเคปทาวน์ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้และเปลี่ยนเครื่องที่เมืองโดฮา รัฐกาตาร์ ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เมื่อผู้โดยสารที่ต้องสงสัยเดินทางมาถึงประเทศไทย



1174104

จึงทำการตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบว่ามีสิ่งผิดปกติบริเวณผนังของกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจค้นโดยละเอียด ผลการตรวจค้น พบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคคาอีน) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,355 กรัม มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ในผนังของกระเป๋าสัมภาระทั้ง 2 ด้าน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม จึงทำบันทึกจับกุมและนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อดำเนินคดีต่อไป


1174105

       

ในกรณีนี้ เป็นความผิดฐานพยายามนำยาเสพติดประเภท 2 (โคคาอีน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 244 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167



                               

1174107

สำหรับ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือนมกราคม 2566 มีจำนวน 16 คดี มูลค่า 403.45 ล้านบาท

2 ผลการจับกุมบุหรี่

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการตรวจค้นร้านค้าแห่งหนึ่งบนถนนเพชรเกษม ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากสืบทราบว่าร้านดังกล่าวมีการลักลอบนำบุหรี่ที่ไม่ผ่านพิธีการมาจำหน่าย ผลการตรวจสอบพบ บุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ไม่มีเอกสารผ่านพิธีการทางศุลกากรหลายยี่ห้อ จำนวน 639,760 มวน มูลค่า 2,878,920 บาท

กรณีนี้เป็นการลักลอบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 242, 243, 244, 245, 246 และ 247 ประกอบมาตรา 252,166 และ 167 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2566 ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 183 คดี มูลค่า 7,778.806 บาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 45 คดี มูลค่า 4,147,624 บาท

3 ผลการจับกุมสินค้าเกษตร

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 เวลา 01.00 น. เจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยด่านศุลกากร อรัญประเทศได้รับแจ้งจากสายลับปกปิดนามว่าจะมีการลักลอบนำสินค้าประเภทกระเทียมสด ที่ยังไม่ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร บรรทุกมากับรถยนต์กระบะ ออกจากตลาดบ้านเขาดินไปตลาดสี่มุมเมืองกรุงเทพ จึงได้นำกำลังไปทำการเฝ้ารออยู่บริเวณริมถนนหมายเลข 317 หลักกิโลเมตรที่ 122 ต.คลองหินปูน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว จนกระทั่งเมื่อเวลา 05.20 น. ตรวจพบรถต้องสงสัย จึงขอเข้าตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบสินค้าประเภทกระเทียมสดแกะกลีบถิ่นกำเนิดต่างประเทศ บรรจุอยู่ในกระสอบ ไม่พบเอกสารผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 190 กระสอบ กระสอบละ 18 กิโลกรัม น้ำหนักรวม 3,420 กิโลกรัม มูลค่า 164,160 บาท

กรณีนี้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 242, 244, 246 และมาตรา 247 ประกอบมาตรา 166 และ 167 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สถิติการจับกุมสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2566 จำนวน 57 คดี มูลค่า 4,162,820 บาท

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad

Pages